กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. มีแนวโน้มตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะให้มีการแบ่งประเภทวิธีการสมัคร ส.ว. เป็น 2 ส่วน
นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้ายที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เบื้องต้นคงต้องรอ สนช.ส่งร่างฉบับสมบูรณ์ทั้ง 2 ฉบับมายัง กรธ.ถึงจะพิจารณาในรายละเอียดได้
แต่ต้องยอมรับว่า วิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่กรธ.เสนอเป็นรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยใช้กันมาก่อน ทำให้ สนช.บางส่วนไม่ค่อยมั่นใจ โดยเฉพาะการแบ่งกลุ่มอาชีพว่า จะได้ ส.ว.ที่น่าพอใจหรือไม่ จึงพยายามหาวิธีการใหม่
แม้ว่า ที่ประชุม สนช.จะลดกลุ่มอาชีพจาก 20 กลุ่ม ลงเหลือ 10 กลุ่ม ซึ่งอาจจะทำให้โอกาสที่กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่จะเข้ามาเป็น ส.ว.มีความไม่แน่นอน อย่างกลุ่มสตรี ตามร่างของ กรธ.จะทำให้มีโควตาส.ว. แน่ๆ 10 คน แต่เมื่อลดกลุ่มลง แล้วนำไปรวมกับกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ โอกาสของกลุ่มสตรีก็จะลดลง
ส่วนกรณีที่ สนช.แก้ไขให้มีการแบ่งประเภทวิธีการสมัคร ส.ว.เป็น 2 ส่วน คือ 1.ประเภทที่สมัครโดยอิสระ 100 คน กับ 2.ประเภทที่ต้องได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรต่างๆ นั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหญ่
เพราะแม้ว่า สนช.จะชี้แจงว่า ไม่ได้แบ่งที่มา แต่เป็นแต่เพียงวิธีการสมัครเท่านั้น แต่ในทางความจริงก็ดูพิลึก เพราะเท่ากับแยก ส.ว.ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 100 คนแล้ว ที่ตามร่างเดิมกรธ.กำหนดให้มี ส.ว.200 คน มีที่มาโดยอิสระให้เลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร
ดังนั้น การแก้ไขวิธีได้มาซึ่ง ส.ว. จะทำให้ผู้สมัครถูกจำกัด โดยวิธีการสมัครจากการแบ่งประเภทของ สนช.นั่นเอง ซึ่งประเด็นนี้ จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องรอฟังกรรมการกรธ. คนอื่นๆ ด้วย
แต่ถือว่า เป็นประเด็นที่ตนเองมีความกังวลใจว่า จะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีแนวโน้มที่นำไปสู่การโต้แย้งเนื้อหาเพื่อตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติกันอีกครั้ง