ผู้พิพากษาอาวุโสชี้แจงกรณีโลกโซเชียลแชร์ข้อความสามี-ภรรยา ยิงบุคคลที่มีชู้ไม่ผิดว่า เป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง เพราะการฆ่าผู้อื่นล้วนมีความผิดต้องได้รับโทษ แต่อาจมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ในบางกรณี
ข้อความโซเชียลที่ถูกส่งต่อเป็นข้อความจากเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่งระบุ 'รู้หรือไม่ สามีหรือภรรยายิงชู้ตาย ไม่ผิด ไม่ติดคุกนะจ๊ะ' จนเป็นที่วิพากย์วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในหลากหลายมุม บางคนเชื่อข้อความนี้ และบางคนมองว่าเป็นข้อความที่ผิดจากหลักกฎหมาย
ทีมข่าวช่อง 8 ได้สอบถามจากประเด็นนี้จ่ก นายวัชรินทร์ ปัจเจกวิญญูสกุล ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลจังหวัดตลิ่งชัน ชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักทั่วไป ผู้ใดฆ่าผู้อื่นเสียชีวิตต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งถ้าเป็นเจตนาฆ่า มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 -20 ปี กรณีฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โทษ คือ ประหารชีวิต ส่วนกรณีสามีภรรยาที่ฆ่าชู้นั้น มีเหตุที่จำเลยร้องให้บรรเทาโทษ หรือขอลดโทษได้ 2 กรณี โดยต้องเป็นคู่สามีภรรยาที่จะทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นกรณีที่สามีหรือภรรยาพบเห็นอีกฝ่ายกำลังร่วมประเวณีกับชู้ ก็จะอ้างเหตุบันดาลโทสะ และป้องกันเกียรติยศชื่อเสียง โดยจำเลย สามารถยกประมวลกฎหมายมาตรา 72 คือ กรณีบันดาลโทสะ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด กับมาตรา 68 ที่อ้างว่าทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นอันตราย โดยมักนำมาอ้างว่าเพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรี ขอลดโทษจากศาลได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะได้รับการลดโทษทุกกรณี ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และดุลยพินิจของศาล
ส่วนที่มีการแชร์ในโซเชียลว่าชายพบภรรยากำลังร่วมประเวณีกับชายอื่น จึงฆ่าภรรยาและชายชู้ ถือว่าป้องกันเกียรติยศชื่อเสียง ไม่มีโทษ นั้น นายวัชรินทร์กล่าวว่า เป็นข้อมูลฎีกาคดีเก่าตั้งแต่ปี 2479 ซึ่งอ้างลักษณะกฎหมายอาญา มาตรา 50 เหตุจำเป็นเพื่อป้องกันเกียรติยศชื่อเสียง ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ยกเลิกใช้ตั้งแต่ปี 2500 แล้ว
ด้านนางสาวอุษา เลิดศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง เปิดเผยว่า จากการทำงานของมูลนิธิพบว่า ผู้หญิงที่ฆ่าสามี มักถูกกระทำความรุนแรงทั้งทางกายหรือถูกทำร้ายจิตใจ เช่น นอกใจ จนเกิดอาการกลัวจนหลอน จึงทำร้ายสามีเพื่อยุติความรุนแรง โดยมูลนิธิเคยช่วยนำเสนอเหตุนี้ลดโทษได้บางราย ซึ่งยากลำบากมากในการพิสูจน์เหตุในการบันดาลโทสะ ส่วนเหตุบรรเทาโทษกรณีสามีภรรยาที่นอกใจนั้น ก็จะช่วยให้ผู้หญิงได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่ก็มีความยากลำบาก เพราะทนายส่วนใหญ่โดยเฉพาะทนายขอแรงยังไม่มีความเข้าใจมากพอ และยังมีอคติทางเพศในกระบวนการยุติธรรม