ผู้อำนวยการศิลปากร จังหวัดนครราชสีมา ยืนยันการประกาศให้เมืองพิมายเป็นโบราณสถาน ควบคุมเฉพาะสระโบราณและผังเมืองโบราณ ไม่กระทบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนครราชสีมา
จากกรณีที่ชาวบ้าน ในพื้นที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการประกาศขึ้นทะเบียนตัวเมืองพิมาย เป็นเขตโบราณสถาน เนื่องจากเกรงว่า จะถูกควบคุมไม่ให้ต่อเติมอาคารในที่ดินของตนเอง และเกรงว่า จะถูกไล่ออกจากพื้นที่นั้น นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากร จังหวัดนครราชสีมา ได้นำแผนที่บริเวณเมืองพิมาย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,600 ไร่ มาให้ผู้สื่อข่าวดู
พร้อมชี้แจงว่า พื้นที่เมืองพิมาย ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นเมืองโบราณ มาตั้งแต่ปี 2479 แล้ว เนื่องจากลักษณะผังเมืองเช่นนี้ มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย เพราะมีลักษณะเด่นหลายอย่าง เช่น บริเวณบ้านส่วย ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทหินมาย ซึ่งเป็นเนินโบราณ ขณะเดียวกัน ก็มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งเชื่อได้ว่า มีคนอาศัยบริเวณนี้มากว่า 2 พันปี ก่อนที่จะมาเป็นเมืองพิมาย
นอกจากนี้ ยังมีการขุดพบภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ ที่ชาวต่างชาติรู้จักในชื่อแบล็คพิมาย ซึ่งเป็นชุมชนโบราณก่อนยุคสมัยขอม จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก
ทั้งนี้ แม้การประกาศเป็นพื้นที่โบราณสถาน จะประกาศครอบคลุมเกือบทั้งตัวเมืองพิมาย แต่ทางกรมศิลปากร จะเข้ามาควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือถาวรวัตถุ เฉพาะบริเวณสระน้ำโบราณ เนื่องจากเป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเมืองโบราณ ซึ่งหากไม่ควบคุม ก็จะมีการก่อสร้างทับผังเมืองโบราณ ได้รับความเสียหาย
ดังนั้นการประกาศพื้นที่เมืองพิมาย เป็นพื้นที่โบราณสถาน จึงไม่น่าจะสวนทางการพัฒนาเศรษฐกิจของอำเภอพิมาย เพราะปัจจุบันมีนักท่องเที่ยว มาท่องเที่ยวจำนวนมาก ดูได้จากสถิติการเก็บเงินค่าผ่านประตูเข้าชมปราสาทหินพิมาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5-6 ล้านบาทต่อปี และเชื่อว่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็จะต้องจับจ่ายซื้อของในตัวเมืองพิมายอีกจำนวนมาก