ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ยืนยัน อาหารทะเลที่นำเข้าจากเมืองฟุกุชิมะ ไม่เป็นอันตราย มั่นใจการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกของประเทศญี่ปุ่นได้มาตรฐาน

กรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อนุญาตให้ไทยนำเข้าปลาตาเดียวจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศแรก หลังจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ รั่วไหลเมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้มีกระแสการตั้งข้อสงสัยในสังคมออนไลน์ว่า มีความปลอดภัยจริงหรือไม่

ซึ่งในเรื่องนี้ รองศาสตราจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวช่อง 8 ว่า ในต่างประเทศได้มีการรายงานผลการตรวจสอบ โดยอ้างอิงจาก นักวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ นิโคลัส เอสฟิชเชอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีนิวเคลียร์ในสัตว์ทะเลที่นิวยอร์ก ระบุว่า การรั่วไหลของฟูกูชิม่าเบาบางลง เมื่อเทียบกับพื้นที่ขนาดใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก รังสีที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของรังสีที่มีอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งร้อยละ 99 เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

สำหรับความกังวลเนื่องปริมาณสารเคมีในอาหารทะเล รองศาสตราจารย์วีรชัย ระบุว่า ปกติจะใช้เวลาสลายในประมาณ 30 ปี แต่เมื่อสารเหล่านี้ลงสู่ทะเล จะเปลี่ยนเป็นสารประกอบตัวอื่น ระยะเวลาประมาณ 90 วันก็สลายได้

ดังนั้น อาหารทะเลจากเมืองฟุกุชิมะ จึงสามารถนำมาบริโภคได้ นอกจากนี้ การส่งออกของประเทศญี่ปุ่นก็มีมาตรฐานสูง จึงเชื่อว่า อาหารที่ส่งมาปลอดภัย

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาเรียกร้องให้ อย. และกรมประมงตรวจสอบอีกครั้ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมประเทศไต้หวันและเกาหลีใต้ จึงยังไม่อนุญาตให้นำเข้าปลาจากพื้นที่ฟูกูชิมะ พร้อมกับขอให้เปิดเผยรายชื่อ 12 ร้านอาหาร ที่นำเข้าปลาตาเดียวจากฟุกุชิมะด้วย

นักวิทยาศาสตร์ยันอาหารทะเลนำเข้าจากฟุกุชิมะไม่อันตราย