เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายทั้งกฎหมาย ส.ส. และ ส.ว. โดยลงมติเห็นชอบอย่างท้วมท้นกว่า 200 เสียง แต่ยังมีกระแสข่าวว่า สนช.บางส่วนอาจรวมตัวกันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ส.ว. ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีก
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.)กล่าวว่า หลังจากสนช.เห็นชอบร่างกฎหมาย ส.ส. และ ส.ว.แล้ว ในที่ประชุมวิปสนช.ไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ หลังจากนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พูดว่า ร่างกฎหมายมีบางประเด็นที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องคุยกันว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ส่วนตัวเห็นว่า ไม่มีประเด็นที่ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายได้แก้ไขให้ไปบัญญัติในบทเฉพาะกาลแล้ว แต่เมื่อนายมีชัย ท้วงติงมา ก็อาจนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมวิป สนช. สัปดาห์หน้า แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครแสดงตัวว่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
มีรายงานว่า ร่างกฎหมาย ส.ว. เป็นกฎหมายที่เป็นข่าวว่า สนช.อาจจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะมองว่า ประเด็นการแบ่งกลุ่มเลือก ส.ว. จาก 20 กลุ่มเหลือเพียง 10 กลุ่มนั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความต้องรวบรวมรายชื่อสมาชิก 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ก็คือ 25 คน
สำหรับมติสนช.เห็นชอบร่างกฎหมาย ส.ว. ด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ซึ่งในวันลงมติ (8 มี.ค.) มีผู้ไม่มาร่วมประชุมในวันดังกล่าวรวมแล้ว 32 คน
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถึงแม้ว่า สนช.จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างกฎหมาย ส.ว. ก็จะไม่ทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เพราะคงใช้เวลาแก้ไขไม่นาน และได้มีการเผื่อเวลาไว้แล้ว
เชื่อว่าหากมีการยื่นตีความก็จะยื่นแค่มาตราที่มีการตั้งข้อสังเกตกัน หากมีปัญหาศาลจะส่งกลับมาให้แก้ไขเฉพาะมาตรานั้น มั่นใจว่าไม่มีอะไรกระทบโรดแม็ป เพราะการส่งร่างกฎหมายให้ศาลตีความ เป็นเพียงโรดแม็ปเล็กที่อยู่ในโรดแม็ปใหญ่
ส่วนกรณีที่สนช. 32 คน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่างกฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณีต่ออายุให้กรรมการ ป.ป.ช. 7 คนที่มีคุณสมบัตจิต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญอยู่ต่อจนครบวาระ 9 ปี ซึ่ง สนช. 32 คน มองว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญนั้น
วานนี้ (9 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงสื่อมวลชน ชี้แจงผลการพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือ พร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมปรึกษาหารือกัน ก่อนลงมติร่วมกันเป็นมติเอกฉันท์ ว่า การต่ออายุ ป.ป.ช. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน 7 คนที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ 9 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช. เดิม