จ.นครราชสีมา เปิดแหล่งขุดพบชุมชนโบราณ อายุกว่า 6,000 ปี ใหญ่สุดในอาเซียน ที่ บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมแล้ว

จากกรณีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสในกลุ่มคนข่าวโคราชบ้านเอ็ง ซึ่งมีสมาชิกกว่า 5 แสนคน เชิญชวนท่องเที่ยว บ้านโนนวัด ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา แหล่งโบราณที่มีหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ใหญ่และมีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมยาวนานที่สุดในประเทศไทย นับได้ตั้งแต่ยุคหินใหม่ สำริด เหล็ก เรื่อยมากระทั่งยุคปัจจุบัน กว่า 200 ชั่วอายุคน เก่าแก่กว่าบ้านเชียงเล็กน้อย มีอายุถึง 6,000 ปี และเป็นแหล่งขุดค้นที่ใหญ่ที่สุดใน AEC นั้นจากการลงพื้นที่สอบถามไปยัง นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการศิลปากรที่ 10 จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าหลุมขุดค้นดังกล่าวได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 จนมีการขุดค้นเสร็จสิ้นราวปี พ.ศ.2547 ปัจจุบันได้มีการปิดหลุมที่ทำการขุดค้นจนหมดสิ้นแล้ว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบริเวณที่ทำการขุดค้นเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศึกษาทางโบราณคดี

สำหรับแหล่งขุดค้นบ้านโนนวัดนี้มีความพิเศษคือ มีอายุอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ครบทั้ง 4 ช่วง คือ ยุคหินใหม่, ยุคสำริด, และยุคเหล็ก ต่อเนื่องจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ คือ ทวารวดี, เขมร, อยุธยา, รัตนโกสินทร์ จนถึงปัจจุบัน โดยมีคนอยู่อาศัยทับซ้อนกับมาเรื่อยๆ มีการขุดพบซากพืชซากสัตว์อีกจำนวนมหาศาล กล่าวคือ ชุมชนโบราณที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดมีการดำรงชีวิตหรือความเป็นอยู่โดยการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว ควาย หมู และสุนัข ล่าสัตว์และดักสัตว์จำพวกวัวป่า หมูป่า กวางป่า เนื้อสมัน ละอง ละมั่ง เนื้อทราย เก้ง และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก จับสัตว์น้ำและสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก จำพวกปลา หอย เต่า และตะพาบน้ำ การบริโภคสัตว์นิยมกินไขกระดูก โดยการทุบขวางกระดูก (diaphysis)

นอกจากนี้ยังมีการเพาะปลูกข้าวและการแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก สภาพแวดล้อมเป็นที่ราบน้ำท่วมขังและมีแม่น้ำ ลำน้ำสาขา คลอง สระ หนอง ส่วนป่านั้นที่โดดเด่นคือป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง ป่าแดง หรือป่าเต็งรัง เพราะป่าเหล่านี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่พบจากแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ โดยถือว่าแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดนี้มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมที่ยาวนานที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัดนี้ยังมีลักษณะพิเศษกว่าแหล่งโบราณคดีอื่นกล่าวคือ มีความเก่าแก่อยู่ในยุคหินใหม่ ประมาณ 4,500-6,000 ปีมาแล้ว โดยมียุคร่วมสมัยเดียวบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถึงประมาณ 1,000 ปี มีลวดลายที่ปรากฏบนภาชนะดินเผา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่บ้านโนนวัด และไม่พบที่อื่น มีการพบศพผู้ใหญ่ที่ถูกนำบรรจุใส่ในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่มีอายุราว 4,000 ปี พบหลุมฝังศพของสุนัขโดยเป็นพิธีกรรม อายุกว่า 5,000 ปี โดยพบน้อยมากในหลุมขุดค้นในเอเชีย สันนิฐานได้ว่ามนุษย์ยุคนี้ไม่ใช่คนป่าเถื่อน มีการทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ และมีอารยะธรรม พบซากเด็กทารกไปจนถึงคนชรา มีการพบอาวุธหลากหลายชนิด เปลือกข้าวทับถมเป็นเวลานับพันปี ซึ่งสันนิฐานว่า คนไทยกินข้าวมามากกว่า 6,000 ปี

พบท่อนไม้โบราณคล้ายเสาบ้านคน พบภาชนะดินเผา พบทุกๆอย่างที่เป็นชุมชน ค้นพบโครงกระดูกในพื้นที่เดียวกัน 635 โครง, โบราณวัตถุจำนวนมากกว่า 20,000 ชิ้น ภายในพื้นที่ยังได้มีการพบเครื่องปั้นดินเผาที่ยังมีความสมบรูณ์จำนวน 4,000 ชิ้น สำหรับสิ่งที่ขุดค้นเจอทั้งหมดได้ถูกเก็บรวบรวมไว้ที่สำนักศิลปากรที่ 10 จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและจะดำเนินการจัดแสดงให้ผู้ที่สนใจชมในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมายต่อไป

 

Cr.ประสิทธิ์/นครราชสีมา