นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. ตั้งโต๊ะชี้แจงประเด็นร้อนด้านลบกับบริษัทในโซเชียลมีเดีย ทั้งในเรื่องการกำหนดราคาน้ำมันที่เอาเปรียบประชาชน จนได้กำไรสูงเป็นแสนล้านบาท ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก การกำหนดราคา ที่มาของกำไร และกรณีโซเชียลฯชวนกันบอยคอตเติมน้ำมันที่ปั๊มของ ปตท.
เทวินทร์ กล่าวว่า องค์ประกอบการกำหนดราคาน้ำมัน มีต้นทุนราคาน้ำมันดิบ โรงกลั่น ภาษี ค่าการตลาด และเงินนำส่งกองทุนน้ำมัน โดยการปรับราคาขายปลีกน้ำมันของ ปตท. ในแต่ละครั้ง ปรับตามต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งราคาน้ำมันไทยอิงตลาดสิงคโปร์ซึ่งอิงกับน้ำมันดิบดูไบ โดยการที่น้ำมันไทยแพงกว่าสิงคโปร์เพราะค่าขนส่งน้ำมันมายังไทย แพงกว่า
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดูไบที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 ดอลลาร์ ส่งผลราคาน้ำมันในประเทศ 24 สตางค์/ลิตร แต่วิธีบริหารจัดการปตท.จะดูแนวโน้มภาพรวม ไม่ได้ปรับตามราคาขึ้นลงทุกวัน เช่นสัปดาห์ที่แล้วน้ำมันขึ้น-ลงทุกวัน แต่สุทธิแล้วเป็นศูนย์ ปตท.ก็ไม่ได้ปรับราคา ส่วนวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังติดตามราคาน้ำมันดิบดูไบเริ่มลดลง 1.30 ดอลลาร์/บาร์เรล คิดเป็น 30 สตางค์/ลิตร แต่ ปตท. ตัดสินใจปรับลง 50 สตางค์ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งปั๊มน้ำมันหลายแห่งก็ปรับตามลงมา
สถานการณ์ล่าสุด ราคาน้ำมันสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลงต่อ จึงมีความเป็นไปได้ว่าบ่ายวันนี้ ราคาน้ำมันจะลดลงอีก มีสาเหตุจากสัปดาห์ก่อนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งโอเปกและนอนโอเปกอย่างรัสเซีย มีการประชุมเร็วกว่ากำหนด เพื่อเพิ่มโควต้าการผลิต ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการเมืองระหว่างประเทศ เพราะความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์พิเศษจากสหรัฐแทรกแซงอิหร่าน ไม่ได้เกิดจากดีมานด์-ซัพพลาย แต่หลายดัชนีสะท้อนว่าแนวโน้มราคาน้ำมันเริ่มเป็นขาลง
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับขึ้นราว 20% จนมาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงกว่าที่ประมาณการเฉลี่ย 55 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งแม้ว่าน้ำมันจะเริ่มเป็นขาลงและไม่เห็นปัจจัยทางเทคนิคที่จะทำให้น้ำมันราคาขึ้นอีก แต่ ปตท. คงปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันเป็น 60-65 ดอลลาร์/บาร์เรล พร้อมทั้งติดตามการเมืองระหว่างประทศที่คาดเดายากและการเก็งกำไรเพราะมีอิงตลาดล่วงหน้าทำให้ราคาน้ำมันผันผวน
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ปี 2560 ราคาน้ำมันทั้งปีเฉลี่ยเป็นขาขึ้น โดยปตท. มีการปรับขึ้น 21 ครั้ง ปรับลง 21 ครั้ง แต่ราคาหน้าปั๊มขายต่ำกว่าต่างชาติ 20 วัน ไม่เคยขายแพงกว่ารายอื่นเลย แม้แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ 6 เม.ย.-28 พ.ค. 61 ปตท.ปรับขึ้นราคาน้ำมัน 6 ครั้ง ปรับลง 1 ครั้ง ซึ่งทั้ง 7 ครั้งไม่เคยขายแพงกว่าปั๊มอื่นเลย แต่มีอยู่ 9 วันในช่วง 50 วันที่ขายต่ำกว่าปั๊มอื่น
สำหรับสิ่งที่เราคุมไม่ได้คือกลไกตลาดโลก ภาษี และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมัน ที่ล้วนเป็นต้นทุน แต่เงินกองทุนน้ำมันมีประโยชน์ที่สามารถนำมาใช้เป็นมาตรการดูแลผู้บริโภคในช่วงเวลาสั้นๆ ได้ ขณะที่ ค่าการกลั่น ค่าการตลาด จะมีการบริหารจัดการที่เหมาะสมระหว่างผลตอบแทนกับราคาขายปลีก แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด เพราะปตท.ถือหุ้นในโรงกลั่นเพียง 3 โรง ใน 6 โรง และค่าการกลั่นเป็นไปตามกลไกโรงกลั่นสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยอมรับด้านประสิทธิภาพ ปัจจุบันค่าการกลั่นอยู่ที่ 1 บาทกว่าไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร ซึ่งดีเซลจะต่ำกว่าอยู่ที่ 1.20 บาทต่อลิตร เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการให้ดีเซลสูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ค่าการตลาดสามารถปรับขึ้นลงได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้มาก เพราะเป็นรายได้ที่จะนำไปใช้ลงทุนขยายสาขา การบริหารจัดการต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนแบ่งระหว่าง ปตท. ผู้ค้า และผู้ลงทุนสร้างปั๊ม โดยปกติ เวลาที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าการตลาดจะปรับลดลงอยู่แล้วเพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ข้อความเท็จในโลกโซเชียลกระทบกับยอดขายหรือไม่คงตอบได้ยาก แต่การชี้แจงวันนี้อยากให้สังคมเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง และยืนยันว่าอยู่ระหว่างดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ใส่ข้อมูลเท็จตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เพราะเจ็บแค้น แต่ต้องการให้มีความรับผิดชอบมากกว่านี้ ใครตั้งใจทำผิดก็ต้องมีบทลงโทษ ส่วนผู้ที่แชร์ข้อมูลโดยไม่ตั้งใจก็คงไม่เอาความ แต่ต้องการให้สังคมไทยมีวินัยเรื่องการโพสต์และแชร์ข้อมูลที่รับผิดชอบ
แม้ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมัน แต่ก็ไม่ได้อยากเห็นราคาน้ำมันในประเทศแพงขึ้น เพราะประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบมาใช้สัดส่วนถึง 80% ซึ่งหากราคาน้ำมันแพงผลกระทบจะเกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งผู้บริโภคคนไทยเดือดร้อนใช้น้ำมันแพง ประเทศไทยก็เดือดร้อนในการขาดดุล ปตท. ก็เดือดร้อนที่เข้าไปอุดหนุน จึงอยากให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน และผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าพัฒนาธุรกิจ ไปสำรวจแหล่งผลิตใหม่ๆ โดยคิดว่า ระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นระดับที่เหมาะสม
นายเทวินทร์ ยังชี้แจงประเด็นสัดส่วนกำไร ที่ระบุว่าสูงถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2560 ว่า ดูเพียงตัวเลขเหมือนจะสูงจริง แต่หากดูอัตรากำไรต่อยอดขายที่มี 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 6.7% เท่านั้น ส่วนอัตรากำไรต่อสินทรัพย์ของ ปตท. ซึ่งอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท (ROA) คิดเป็น 6% โดยกำไรส่วนใหญ่เป็นส่วนแบ่งจากเงินลงทุนในกิจการอื่น ขณะเดียวกัน นอกจากการลงทุนผ่านบริษัทแล้ว ปตท.เองก็ต้องบริหารจัดการและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งคืนกำไรแก่สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมนำส่งรายได้เข้ารัฐอีกด้วย