รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบเพื่อเอาผิดเจ้าของโรงงาน นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย และเตรียมตรวจสอบ มีเจ้าหน้าที่รู้เห็นด้วยหรือไม่ หากพบ เอาผิดมาตรา 157 ทันที

พลตำรวจเอก วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง แถลงผลการตรวจสอบบริษัทที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังค้นพบหลายบริษัททำผิดเงื่อนไข เช่น สำแดงสินค้าผิดประเภท

พลตำรวจเอก วิระชัย บอกว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานทั้งที่ อำเภอแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี และ จังหวัดฉะเชิงเทรา พบการกระทำความผิดหลายอย่าง ทั้งสำแดงสินค้าผิดประเภท พบพิรุธในการเลี่ยงภาษี ตำรวจจะ ตรวจสอบย้อนหลังว่า มีการจ่ายภาษีให้กับรัฐ ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่ หากพบความผิด จะดำเนินการโดยไม่มีข้อยกเว้น

พร้อมกันนี้จะต้องมีการตรวจสอบ ว่า การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ผิดเงื่อนไข มีเจ้าหน้าที่คนใด รู้เห็นเป็นใจหรือไม่ หากพบ จะมีความผิดฐาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

ส่วนบทลงโทษหนักสุดกับเจ้าของบริษัท คือ ดำเนินคดีอาญา โทษสูงสุด จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ จะไม่ใช้การเปรียบเทียบปรับ ตามกฏหมายของศุลกากรเหมือนที่ผ่านมา

ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกว่า ขณะนี้ ได้มีคำเสนอให้พักใบอนุญาตโรงงาน ที่ลักลอบนำเข้า เผาหลอมทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผิดกฏหมายไปแล้ว 4 โรงงาน ส่วนอีก 2 โรงงาน ทำถูกกฏหมาย เหลืออีก 1 โรงงาน ที่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า เข้าข่ายผิดกฏหมายหรือไม่

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหา จะหารือกับกรมศุลกากร เรื่องเอกสารการแจ้งรายการนำเข้า ว่า ชิ้นส่วนประเภทใด เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายตามกฏหมาย ซึ่งกรมโรงงาน จะได้ส่งข้อมูลบริษัทที่มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ศุลกากรไปเฝ้าระวัง เพื่อช่วยคัดกรองการลักลอบนำเข้า และป้องกันการสำแดงนำเข้าอันเป็นเท็จ และวางมาตรการควบคุมการขนส่งขยะอัตรายจากท่าเรือไปยังโรงงานเพิ่มเติม

ส่วน นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการกรมศุลกากร ยืนยัน ที่ผ่านมามีการสุ่มตรวจตู้คอนเทรนเนอร์ แต่ยอมรับว่า จำนวนตู้แต่ละวันจำนวนมาก เกินกำลังเจ้าหน้าที่ จึงทำให้การตรวจสอบทุกตู้ทำได้ยาก อาจส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการขนส่งได้ ส่วนมาตรการจากนี้ หากศุลกากร ตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้า จะส่งดำเนินคดีทุกบริษัททันที และจะตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเหล่านี้ทุกตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อีก

ขณะที่ นางสาวสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบหาสารปนเปื้อน เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบโดยเฉพาะแหล่งน้ำ ที่อยู่รอบๆโรงงานขยะดังกล่าวทั้งหมด ตลอดจนจุดเสี่ยงที่เป็นเป้าหมาย ว่าต้นตอ เกิดจากโรงงานมีการปล่อยสารพิษ สารอันตรายลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ หากพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ในแหล่งน้ำ อันส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ จะประเมินมูลค่าความเสียหายและพิจารณาเอาผิดกับโรงงานดังกล่าวตามขั้นตอนของกฎหมายเพิ่มเติม

ส่วนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทหาร และฝ่ายปกครอง และ ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ตรวจสอบการประกอบกิจการรีไซเคิลขยะ ของบริษัทหนึ่ง ในอำเภอแปลงยาว หลังมีประชาชนร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบทางสุขภาพอย่างหนัก

ทั้งนี้มี กรรมการผู้จัดการ พานำตรวจ จากการตรวจสอบโรงงานนี้ พบว่า เป็นโรงงานประกอบกิจการหลอม หล่อ เศษและตะกรัน โลหะอลูมิเนียม สังกะสี ทองเหลือง ทองแดง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์

เบื้องต้น พบพื้นที่ประกอบการ มีข้อบกพร่องหลายเรื่อง โดยเฉพาะระบบกำจัดกลิ่นที่สัมผัสได้ชัดเจน ต้องแก้ไขระบบรักษาความปลอดภัยของอาคาร สภาพเครื่องจักรกลมีการชำรุด ระบบบำบัดน้ำเสียก็ต้องมีการปรับปรุง รวมไปถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของพนักงานในโรงงานด้วย

เจ้าหน้าที่จึง สั่งหยุดกิจการเพื่อปรับปรุงเป็นเวลา 30 วัน และได้กำชับให้สถานประกอบการ ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม อย่างเคร่งครัด

รอง ผบ.ตร. เตรียมเอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์โทษหนักสุด