เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการว่า โรคติดเกม จัดเป็นปัญหาสุขภาพจิต และมีอาการรุนแรงได้เหมือนติดสารเสพติดหรือติดการพนัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แนะคนชอบเล่นเกมควรจัดสรรเวลา เพื่อลดการเสพติด
จากกรณีองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า โรคติดเล่นเกมจัดเป็นปัญหาสุขภาพจิต สามารถมีอาการรุนแรง ได้เหมือนติดสารเสพติด หรือติดการพนัน
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์อธิบายว่า อาการที่ปรากฎให้เห็นหลักๆ คือ มีความบกพร่องในการควบคุมตนเอง คือไม่สามารถหยุดเล่นเกมได้ และมุ่งความสนใจไปที่เกม และไม่สนใจทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ซึ่งรวมถึงไม่นอน และไม่ทานอาหาร
ในบางกรณีที่อาการหนักมาก จะไม่สามารถแยกตัวออกจากเกมได้ จนต้องออกจากโรงเรียน ออกจากงาน ตัดขาดจากครอบครัว และเพื่อนที่ไม่เล่นเกม ซึ่งกระบวนการเสพติด เกิดจากสารเคมีภายในร่างกาย
นายอมรภัทร จิระอมรนิมิต นักกีฬาอี สปอร์ต ทีมชาติไทย ประเภทเกมโปรอีโวลูชัน ซ็อกเกอร์ 2018 (Proevolution Soccer 2018)เปิดเผยว่า การเล่นเกมจนถึงขั้นเสพติด น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะบุคคล โดยเฉพาะคนที่เล่นโดยไม่รู้จักแบ่งเวลา จนเสียงานหรือการเรียน
แต่หากสามารถควบคุมความต้องการของตัวเอง และจัดสรรเวลาได้ การเล่นเกมอาจให้ประโยชน์กับผู้เล่น นอกจากช่วยให้เกิดความสนุก ผ่อนคลาย ยังช่วยพัฒนาทักษะการคิด การวางแผน และปัจจุบันเกมหลายประเภท ยังถูกบรรจุเป็นกีฬาระดับชาติ
สำหรับการวินิจฉัยว่า คนที่เล่นเกมจะเข้าข่ายเสพติดหรือไม่ จากการวิจัยขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า อาการเสพติดเกมควรปรากฏให้เห็น อย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่า เข้าขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คนส่วนใหญ่ที่มีปัญหานี้ คือเยาวชน และวัยรุ่น หากเป็นวัยทำงานก็มักจะเป็นกลุ่มที่ติดเกมมาตั้งแต่เด็ก