"นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง "โทษประหารชีวิต ควรหยุดหรือไปต่อ" พบคนไทยส่วนใหญ่ อยากให้คงโทษประหารชีวิตไว้ เชื่อว่าจะทำให้คดีอาชญากรรมลดลง โดยเฉพาะคดีฆ่าข่มขืนต้องถูกโทษประหาร
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "โทษประหารชีวิต ควรหยุดหรือไปต่อ" จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,251 ตัวอย่าง
เมื่อถามถึงบทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดในคดีร้ายแรงควรได้รับ ระหว่าง "โทษจำคุกตลอดชีวิต" หรือ "โทษประหารชีวิต" พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.50 ระบุว่า โทษประหารชีวิต ร้อยละ 18.86 ระบุว่า โทษจำคุกตลอดชีวิต และ ร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ด้าน ความคิดเห็นของประชาชนต่อ "บทลงโทษประหารชีวิต" จะมีผลทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทย มีความศักดิ์สิทธิ์หรือน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นหรือไม่ พบว่า
ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85.29 ระบุว่า ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นเพราะ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเด็ดขาด ทำให้ประชาชนมีความเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะกระทำความผิดอีก
ขณะที่ร้อยละ 12.07 ระบุว่า ไม่ได้ทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้น เพราะ กระบวนการยุติธรรมไม่มีความโปร่งใส มีช่องโหว่ทางกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และร้อยละ 2.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ "โทษประหารชีวิต" จะทำให้คดีอาชญากรรมลดลงหรือไม่ พบว่า
ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.05 ระบุว่า จะทำให้คดีอาชญากรรมลดลง รองลงมา ร้อยละ 15.83 ระบุว่า จะทำให้คดีอาชญากรรมเท่าเดิม
ร้อยละ 2.88 ระบุว่าจะทำให้คดีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ "โทษประหารชีวิต" ว่าควรมีต่อไปหรือไม่ พบว่า
ส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.49 ระบุว่าควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป เพราะ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นบทเรียนเตือนใจให้แก่ผู้กระทำความผิดหรือคิดจะกระทำความผิด และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับครอบครัวที่สูญเสีย
ร้อยละ 7.51 ระบุว่า ไม่ควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป เพราะ ไม่ได้ทำให้คดีอาชญากรรมลดลง ควรให้โอกาสสำหรับผู้ที่กระทำผิด เนื่องจากบางคนอาจจะทำเพราะเหตุบันดาลโทสะ หรือไม่ได้เจตนา ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้จำคุกตลอดชีวิตน่าจะดีกว่า
และเมื่อถามผู้ที่ตอบว่าควรมีโทษประหารชีวิตต่อไป เกี่ยวกับคดีที่ผู้กระทำผิดสมควรได้รับโทษประหารชีวิตมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.45 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าข่มขืน (ข่มขืนแล้วฆ่าหรือรุมโทรมจนเสียชีวิต)
ร้อยละ 23.95 ระบุว่าเป็นผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีที่ร้ายแรง เช่น ฆ่าคนตาย ข่มขืน
ร้อยละ 16.68 ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา ร้อยละ 2.42 ระบุว่าเป็นคดียาเสพติด
ร้อยละ 0.95 ระบุว่า เป็นคดีก่อการร้าย ร้อยละ 0.86 ระบุว่า เป็นคดีทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุ ไม่แน่ใจ
ขณะที่ นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง บทลงโทษประหารชีวิต ว่า หากมองในบริบทนักสิทธิมนุษยชนถือเป็นการละเมิดสิทธิ และต้องพิจารณาว่าการใช้โทษประหารชีวิต มีข้อมูลรองรับว่าทำให้ผู้กระทำผิดลดลงหรือไม่ จุดสำคัญหากมีการจับผิดตัว หรือ "จับแพะ" ก็จะถือว่าเป็นการนำไปสู่การลงโทษผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้น
แต่อีกมุมหนึ่ง ในประเทศไทยยังมีบุคคลที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ การประหารชีวิต จึงเป็นการลงโทษอีกรูปแบบ ที่สร้างความเกรงกลัวให้กับผู้ที่จะคิดกระทำผิดได้
ขณะที่ ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ สรุปสถิตินักโทษประหารชีวิตล่าสุด จนถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2561 มีนักโทษประหารรวม 520 ราย
ส่วนผู้ต้องขังทั้งหมดในประเทศไทย ล่าสุดมีจำนวน 350,600 คน ในขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 122,047 คน ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ภาวะนักโทษล้นคุก ยังทำให้เกิดปัญหาในการแก้ไขพัฒนาพฤติกรรม และการกระทำความผิดซ้ำ