หมอพื้นบ้านล้านนา ทั่วจังหวัดเชียงราย และทีมแพทย์แผนจีน ต่างเดินทางมาช่วยสนับสนุนภารกิจช่วยชีวิตทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ด้วยการบีบนวดสมุนไพร และฝังเข็ม เพื่อช่วยคลายอาการปวดเมื่อยของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานมาเป็นเวลานาน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การนวดเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนและวิธีรักษาอาการปวดเจ็บป่วย โดยเฉพาะอาการปวดกล้ามเนื้อ ที่หมอเมือง หรือ หมอพื้นบ้านล้านนา จากหลายอำเภอทั่วจังหวัดเชียงราย ในนามสภาหมอเมืองล้านนาเชียงราย นำภูมิปัญญาพื้นเมือง มาช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และ อาสาสมัคร ในภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัย 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

ขั้นตอนแรกเรียกว่า “การแหกรักษา” หรือ “คลึงรักษา” หมอเมือง ใช้ยาที่ปรุงจากสมุนไพรหลายสิบชนิด นวดบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย หรือ จุดที่พบการผิดปกติของกล้ามเนื้อ เช่น คอ ไหล่ หลัง และต้นแขน โดยใช้มีดหมอถูนวดตามภูมิปัญญาพื้นบ้าน

จากนั้น หมอเมืองจะย่ำขาง โดยใช้เท้าชุบน้ำสมุนไพร ประกอบด้วย น้ำไพลและน้ำมันงา แล้วเหยียบลงบนแผ่นเหล็ก หรือ ขาง ที่เผาไฟจนร้อน แล้วจึงไปย่ำบนร่างกาย หรืออวัยวะ ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวด เชื่อว่าความร้อนจากขาง ใช้ได้ดีกว่าโลหะชนิดอื่น ในขั้นตอนนี้หมอเมืองได้เสกคาถา เกี่ยวกับการบำบัดรักษาโรคด้วย

นอกจากนี้ การย่ำขาง ยังบำบัดรักษากลุ่มอาการอัมพฤตอัมพาต ได้ด้วย

นอกจากนี้ หมอเมืองได้ย้ำถึงข้อห้าม สำหรับผู้ป่วยที่รับการรักษาย่ำขาง คือ ห้ามรักษาผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ มีประจำเดือน ผู้ที่เพิ่งผ่าตัดใหม่ ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหืด และผู้ป่วยที่มีไข้ขึ้นสูง

พร้อมห้ามผู้ป่วยกินของแสลง เช่น หน่อไม้ ทุเรียน ไข่ เนื้อไก่ เนื้อวัว ปลาไหล ของหมักดอง อาหารทะเล และกบ หากฝ่าฝืนอาการปวดเมื่อยอาจไม่หาย

นอกจากนี้ ทางสมาพันธ์หมอเมืองล้านนาเชียงราย และอาสาสมัครหมอพื้นบ้าน ได้ร่วมกันปรุงน้ำสมุนไพรปรับธาตุในร่างกาย เพื่อช่วยเหลือดูแลเจ้าหน้าที่ ที่จะออกมาจากถ้ำ และที่จะลงมาจากเขาด้วย  ดื่มแล้วจะช่วยปรับธาตุ ปรับความสมดุลในร่างกาย และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

ส่วนทีมแพทย์แผนจีนหลายคน ได้ร่วมกันใช้ศาสตร์การนวด และการฝังเข็ม ช่วยบำบัดอาการกล้ามเนื้อบาดเจ็บ และอาการเมื่อยล้าจากการทำงานให้กับทีมกู้ภัย ที่เข้ามาช่วยเหลือในภารกิจ นำทีมนักฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ และผู้ช่วยโค้ช รวม 13 คน ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน โดยเชื่อว่าการบำบัด จะช่วยให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยทำการช่วยเหลือทั้ง 13 คน ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยหนึ่งในทีมแพทย์แผนจีนอาสา บอกว่า ทีมกู้ภัยทุกคนทำงานหนัก อีกทั้งต้องแบกอุปกรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อหลัง แขน และไหล่ เกร็งจนตึง ดังนั้น การนวดจะทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และช่วยให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น

แม้ว่าพวกเขาจะเพิ่งเดินทางมาถึงเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคมที่ผ่านมา แต่ก็สามารถช่วยบำบัดให้กับทีมกู้ภัยในพื้นที่ไปแล้วกว่า 200 คน

ด้านเจ้าหน้าที่ที่เข้ามารับการบำบัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการฝังเข็ม กล้ามเนื้อที่ตึง เริ่มผ่อนคลาย และรู้สึกสดชื่นขึ้น

หมอพื้นบ้าน-แพทย์แผนจีน หนุนภารกิจปฏิบัติการถ้ำหลวง