สมาคมนักข่าวเชิญตำรวจ นักวิชาการ อาจารย์ และทนายความร่วมเสวนาเกี่ยวกับ "ทางออกของโทษประหาร" โดยฝ่ายตำรวจ และ นักวิชาการ ชี้โทษประหารสะท้อนความหมดหวังในการแก้ปัญหาอาชญากรรม ขณะที่ทนายความ เชื่อยกเลิกโทษประหารไม่ได้ เพราะญาติยังต้องการให้มีการชดใช้

วานนี้ (8 ก.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถ.สามเสน ได้มีการจัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ทางออกโทษประหาร กับปัญหากระบวนการยุติธรรม

โดยรองศาสตราจารย์ สุณีย์ กัลยะจิตร นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ในเชิงอาชญวิทยา อธิบายการกระทำผิดเป็นเรื่องพฤติกรรมเลวร้ายของมนุษย์ที่ ซึ่งมีเงื่อนไขมาจากทั้งทางสังคมวัฒนธรรม และปมในวัยเยาว์ ที่เด็กเผชิญความรุนแรงในครอบครัว-ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและไม่ได้รับการยอมรับ จนนำไปสู่การคบหาเพื่อนที่ชักจูงให้ทำในเรื่องเลวร้ายเเละรุนแรง

ด้าน นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง ระบุว่า การจะ "ยกเลิกโทษประหารชีวิต" ถือเป็นอุดมคติที่ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย ตราบใดที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะส่วนใหญ่ผู้กระทำผิด มักจะเป็นคนยากจนและขาดการศึกษา ถ้าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ต้องทำให้สังคมเสมอภาค

ขณะที่ญาติของเหยื่อต้องการให้อาชญากรชดใช้การกระทำผิดร้ายแรงด้วยชีวิต เพราะหากใครไม่ใช่ญาติ หรือ ทนายความที่ได้สัมผัสความทุกข์ร้อนของผู้สูญเสียจะไม่มีวันเข้าใจ ความเจ็บแค้นและความต้องการนั้นโดยสิ้นเชิง

ขณะที่ศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โครงสร้างทางสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่ เป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอาชญากรมากขึ้น ซึ่งในอดีตมีฐานความคิดว่า การลงโทษรุนแรงจะป้องกันอาชกรรมร้ายแรงได้หรือไม่ พร้อมเทียบเคียงกับ ภาพและคำเตือนอันตรายจากการดูดบุหรี่นั้นว่า สามารถลดการสูบบุหรี่ได้จริงหรือไม่

การใช้โทษประหารชีวิต อาจสะท้อนความหมดหวังกับมนุษย์และสังคม ที่จะหาทางออกที่ดีกว่านี้ เช่นเดียวกับการรัฐประหาร ที่เกิดจากความหมดหวังจากรัฐ (รัด-ถะ) จึงต้องประหารรัฐนั่นเอง

ส่วนพันตำรวจเอก วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ มองว่า การมีโทษประหาร สะท้อนความสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ต่ออาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งสมัยโบราณการลงโทษรุนแรง เพื่อแก้แค้นให้ผู้เสียหายและป้องกันการเอาเยี่ยงอย่าง

แต่โลกยุคใหม่มองผู้มีพฤติกรรมเลวร้ายว่าเป็นผู้ป่วย พร้อมยืนยันว่า สังคมที่เจริญแล้วจะเห็นคุณค่าของชีวิตมากกว่าสังคมที่ล้าหลังอยู่ ประเทศตะวันตกจึงยกเลิกโทษประหารชีวิต และแม้บางประเทศมีโทษประหารอยู่ แต่ไม่ได้ใช้จริง หรือ พยายามหลีกเลี่ยง เพราะอาชญากรกว่า 90 % เกิดจากสภาพแวดล้อม ซึ่งสามารถป้องกันและแก้ไขได้ โดยเชื่อว่า ศาลเองก็ไม่อยากจะลงโทษประหารเพราะส่วนใหญ่ เมื่อผู้ต้องหารับสารภาพ ศาลจะลดโทษให้

แต่ปัญหา คือ คนในสังคมไทยจำนวนมากสนับสนุนให้มีการประหารชีวิต แต่ปัจจุบันก็ยังมีข่าวการจับแพะ ออกมาเป็นระยะ ทางเจ้าหน้าที่จึงควรให้ความสำคัญกับการรื้อฟื้นคดี เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกระบวนการยุติธรรมที่บกพร่อง

 

สมาคมนักข่าวจัดเสวนาทางออกโทษประหาร ทนายชี้ยังยกเลิกโทษประหารไม่ได้