ขบวนแห่เทียนพรรษาบนหลังช้างรวม 66 เชือก เดินทางออกจากปางช้างแม่แตง ตำบลกึ๊ด-ช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่เช้า เพื่อนำเทียนพรรษาจำนวนหลายสิบต้น ไปถวายวัดแม่ตะมาน

โดยต่างตกแต่งขบวนอย่างสวยงาม มีชาวบ้านแต่งกายด้วยชุดชนเผ่าเดินนำขบวน และช้างเดินตามหลังเรียงกัน มีนายศราวุธ ไทยเจริญ นายอำเภอแม่แตง นั่งอยู่บนหลังช้างนำขบวน ท่ามกลางชาวบ้านและนักท่องเที่ยวรอถ่ายภาพเป็นที่ระลึกตลอดเส้นทาง

ทั้งนี้ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา

ส่วนที่จังหวัดพิจิตร ขบวนเรือจำนวน 5 ลำ ของชาวบ้านตำบลห้วยเกตุ อำเภอตะพานหิน ซึ่งประดับธงชาติและธงตราสัญญาลักษณ์ พร้อมกองผ้าป่า ต้นเทียนพรรษา ล่องไปตามแม่น้ำน่าน เพื่อนำไปทำบุญถวายวัดจำนวน 5 วัด ที่อยู่ตามแนวริมสองฝั่งของแม่น้ำน่าน

ถือเป็นประเพณีทอดผ้าป่า และแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ที่เป็นหนึ่งเดียวของจังหวัดพิจิตร ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวก หลังจากเส้นทางคมนาคมถูกพัฒนาขึ้น ก็ทำให้ประเพณีถวายเทียนพรรษาทางน้ำนี้เลือนหาย ชาวบ้านจึงช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมาเพื่อรักษาเอาไว้ให้รุ่นลูกหลานต่อไป

ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานี ช่างทำต้นเทียน ภิกษุสงฆ์ และชาวชุมชนวัดศรีประดู่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เร่งเก็บรายละเอียดบนต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ขนาดใหญ่ ที่ส่งเข้าประกวดในงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 23-28 กรกฎาคม โดยเตรียมเคลื่อนขบวนให้นักท่องเที่ยวได้ชมช่วงเย็นนี้

สำหรับต้นเทียนพรรษาของวัดศรีประดู่ เคยเป็นแชมป์อยู่หลายสมัย ปีนี้ทางวัดทุ่มงบประมาณกว่า 7 แสนบาท ภายใต้แนวคิดเรื่องพระเวสสันดร ตอน พระราชทานช้างเผือก 5 คู่บ้านคู่เมือง ซึ่งจะจัดทำฉาก เป็นป่าเขาวงกตบนต้นเทียน

โดยจำลองภาพเถาวัลย์ยักษ์ ของป่าดงนาทาม อำเภอโขงเจียม ซึ่งมีอายุกว่า 400 ปี มาประกอบไว้กับต้นเทียนด้วย

หลายจังหวัดจัดพิธีแห่เทียนพรรษา