ชาวบ้านในจังหวัดนครพนมผวาหนัก ลำน้ำก่ำล้น เร่งอพยพย้ายสิ่งของ หนีขึ้นที่สูง หวั่นน้ำท่วมซ้ำรอยอีกระลอก

ชาวบ้านปากบัง หมู่ 2 ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เร่งขนของหนีน้ำท่วม พร้อมกับต้อนควายที่เลี้ยงไว้เดินลุยน้ำท่วมไปอยู่ในที่สูง รวมทั้งพันธุ์ที่เลี้ยงไว้ ก็นำขึ้นรถ เพื่อนเคลื่อนย้ายหนีน้ำท่วมขัง หลังได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร ที่ไหลลงสู่ลำน้ำก่ำ คลองสาขาของแม่น้ำโขงจนเริ่มมีน้ำท่วมขังแล้ว 10 หลัง

ชาวบ้านเชื่อว่า หากฝนยังต่อลงมาอีก จะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จนทะลักท่วมบ้านเรือนชาวบ้านอีก 200 หลังที่เหลือ จนได้รับความเดือนร้อน กลัวน้ำจะท่วมขังสูงซ้ำซากอีก

ที่จังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำมูลไหลเข้าท่วมเขตพื้นที่อำเภอเมือง โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว แม่ค้าเริ่มขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ โดยที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตยวันนี้ มีระดับน้ำสูงขึ้น จากเมื่อวาน 14 เซนติเมตร ทำให้มีระดับน้ำสูง 4.71 เซนติเมตร ห่างจากจุดเตือนภัยประมาณ 1.50 เมตร

นอกจากนี้ ระดับแม่น้ำมูลที่สูงขึ้น ยังเริ่มส่งผลกระทบกับหาดคูเดื่อ บ้านทัพไทย อำเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งผู้ประกอบแพอาหารกว่า 50 เจ้า ต้องทยอยขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ รวมทั้งมีลูกค้าลดลง แม้จะเป็นช่วงวันหยุดยาว เนื่องจากน้ำไหลท่วมพื้นที่จอดรถ และนักท่องเที่ยวกลัวกระแสน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่จังหวัดกาญจนบุรี ปริมาณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ ตำบลท่าขนุน อำเภอ ทองผาภูมิ สะสมลงเขื่อนมากสุดในรอบ 34 ปี ทะลุ 7  พันล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 80.4 เปอร์เซ็นต์ของความจุเขื่อน

ล่าสุด นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ส่งหนังสือเตือน 5 อำเภอ พื้นที่ท้ายน้ำ อย่างอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา ให้เตรียมรับมือกับมวลน้ำที่เขื่อนวชิราลงกรณ์

เพราะจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำ จากเดิมอัตรา 23 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็น 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อทยอยพร่องน้ำออกไป เพราะเขื่อนยังต้องรับน้ำฝนที่จะตกลงมาอย่างต่อเนื่อง อีกกว่า 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม ทางเขื่อนขอยืนยันว่า สภาพตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยสูง โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน ในช่วงวันที่ 30-31 กรกฏาคม ขอให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ระวังผลกระทบจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

ส่วนทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและเรือเล็ก ควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ชาวบ้านอพยพหนีน้ำท่วม หลังน้ำโขงทะลักตลิ่ง