กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นพยาน เมื่อ "ปู่คออี้" เข้าทำบัตรประชาชนเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ ณ ที่ว่าการอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากได้รับการรับรองสัญชาติไทย ในวัย 107 ปี พร้อมเผยผู้เฒ่าไร้สัญชาติยังประสบปัญหาดังกล่าวอีกจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคลและชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมเป็นพยานในการทำบัตรประชาชนใบแรกให้กับนายโคอิ มีมิ หรือ "ปู่คออี้" ผู้นำทางจิตวิญญาณกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน หลังจากได้รับการรับรองสัญชาติไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวัย 107 ปี โดยมีลูกหลาน และเครือข่ายกะเหรี่ยงเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนมาก
โดยก่อนหน้านี้ "ปู่คออี้" ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องสิทธิสถานะบุคคล และมอบหมายให้ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนยื่นคำร้องขอรับรองสัญชาติไทย และได้รับการตรวจสอบพยานเอกสารหลักฐานและพยานบุคคลเสร็จสิ้นตามกระบวนทางกฎหมาย จึงได้รับการอนุมัติให้เพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ทร. ๑๔)
ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ กล่าวว่า จากหลักฐานทะเบียนสำรวจบัญชีบุคคลในบ้าน หรือ ทร.ชข. ปรากฏว่า "ปู่คออี้" เกิดเมื่อปี ๒๔๕๔ บริเวณต้นน้ำลำภาชี รอยต่อของจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรี ทำไร่หมุนเวียนตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบริเวณที่เรียกว่า บ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนเรื่อยมา
และจากการสอบสวนประวัติของ "ปู่คออี้" มีนายสังวาลย์ อ่อนเผ่า อดีตหัวหน้าศูนย์สงเคราะห์ชาวเขา และอดีตเจ้าหน้าที่ศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาที่เดินสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติเป็นพยานบุคคล ดังนั้นจึงถือว่า "ปู่คออี้" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยติดแผ่นดินซึ่งย่อมมีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้นางเตือนใจ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในการทำบัตรประจำตัวประชาชนของ "ปู่คออี้" ในวัย 107 ปี ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการเป็นพลเมืองไทยที่สมบูรณ์ หลังจากที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสัญชาติร่วมกันมานับ 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสถานะบุคคลในกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ประสบปัญหาดังกล่าวอีกจำนวนมาก
เนื่องด้วยกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้แม้อยู่ในดินแดนประเทศไทยมานานแต่เป็นเรื่องยากที่จะขอรับรองการมีสัญชาติไทย เป็นเหตุให้ดำรงชีวิตด้วยความยากลำบาก ขาดโอกาสในหลายด้าน ทั้งยังเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ เช่น การได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสิทธิในการเดินทางโดยเสรี