ผู้ป่วยโรคมะเร็งบางประเภทในประเทศไทย เริ่มมีความหวัง อาจได้ใช้ยารักษามะเร็งราคาถูกกว่าต่างประเทศ หลังแพทย์ไทยต่อยอดรางวัลโนเบล วิจัยยาสำเร็จในขั้นตอนแรกแล้ว คาดอีกไม่เกิน 10 ปี จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้
ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังวิจัย "ยาต้านมะเร็ง" ที่ได้จากภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ ซึ่งต่อยอดมาจากจากผลงานการค้นพบวิธีบำบัดมะเร็ง ด้วยการควบคุมการตอบสนองเชิงลบในระบบภูมิคุ้มกัน ที่เคยได้รับรางวัลโนเบล เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 8 ว่า ขณะนี้การวิจัยประสบความสำเร็จ ได้แอนตี้บอดี้ต้นแบบแล้ว 1 ตัว และจะเร่งพัฒนายาต้นแบบให้ได้หลายชนิดมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการผลิตยาชนิดนี้
ขณะเดียวกันได้เริ่มทดลองใช้กับหนูทดลอง ซึ่งมีแนวโน้มดี หากประสบความสำเร็จทุกขั้นตอนคาดว่า อีก 4 ปีข้างหน้าจะสามารถเริ่มนำมาทดลองใช้ในผู้ป่วย 200-300 คน และหากได้ผลตามที่คาดการณ์ไว้ คาดว่า อีกไม่เกิน 10 ปี จะนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง โดยการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้ได้ผลดีกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ทุกการรักษาไม่ได้ผล และอาจใช้ได้ดีในผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด
โดยในต่างประเทศ ได้ใช้ยาลักษณะนี้แล้วได้ผลดี แต่มีราคาสูงถึงเข็มละ 2 แสนบาท และต้องฉีดหลายเข็ม หากแพทย์ไทยวิจัยสำเร็จ ราคายาจะลดลงมากกว่าครึ่ง ทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
ทั้งนี้ การวิจัยต้องใช้เงินทุนมหาศาล ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดตั้งกองทุนวิจัยยาต้านมะเร็งขึ้น เพื่อระดมทุนจากภาคประชาชน สามารถสมทบทุนงานวิจัยนี้กันได้