สนช. ผ่านร่างกฏหมาย "เก็บภาษีคนขายของออนไลน์" รับเงินโอนเงิน 3,000 ครั้งต่อปี เตรียมโดนสรรพากรเรียกสอบ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ (4 ธ.ค.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอนและฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และนำไปสู่การเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวาระ 2 และวาระ 3
ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. ยืนยันว่า ไม่ใช่การบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ยั่งยืน และไม่สร้างภาระทางภาษีในอนาคต รวมถึงต้องการยกระดับธุรกิจแบบเอสเอ็มอีด้วย
โดยในการประชุมดังกล่าว สนช. ได้แสดงความเห็นคัดค้าน และขอให้แก้ไขสาระเพิ่มเติม เนื่องจากการรับฟังความเห็นประชาชนไม่ทั่วถึง และเนื้อหาสร้างภาระเกินความจำเป็น รวมถึงขาดหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้อาจกระทบกับ สนช. ที่ได้รับเงินโอนจากค่าเบี้ยประชุม หรือรายได้อื่น เช่น เงินทำบุญทอดกฐิน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ทั้งนี้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สนช. อภิปรายคัดค้านหลักเกณฑ์ ว่าด้วยเรื่องการแจ้งรายการความเคลื่อนไหวทางบัญชี พร้อมมองว่า รัฐใช้อำนาจและสร้างภาระเกินความจำเป็น ทั้งที่ตามกฎหมายที่มีผลบังคับใช้สามารถตรวจสอบรายละเอียด และความเคลื่อนไหวทางการเงินได้ ขณะเดียวกันการรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมาย ผ่านทางเว็บไซต์ ยังไม่กว้างขวาง และพบประชาชนที่ให้ความเห็นคัดค้านกว่า 300 ราย
นายวรพล อภิปรายด้วยว่า วันนี้ ( 4 ธ.ค.) ตนได้รับหนังสือด่วนจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมบริษัทจัดการการลงทุน ถึงประธานสนช. ที่ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายดังกล่าวที่ต้องติดตามรายการที่กฎหมายกำหนด เพราะต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน
ขณะที่ นายตวง อันทะไชย สนช. คัดค้านเช่นเดียวกัน พร้อมระบุว่า สนช. อาจจะเข้าข่ายถูกตรวจสอบด้วย เพราะปัจจุบันพบว่า เบี้ยประชุม รวมถึงเงินทำบุญกฐิน ยังรับโอนผ่านบัญชีธนาคาร
ด้าน นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ สนช. ในฐานะ กมธ. ชี้แจง และยืนยันถึงสาระสำคัญของเนื้อหาว่า เป็นการเพิ่มช่องทางชำระภาษีผ่านทางอิเล็คทรอนิกส์ทุกประเภท
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า การถกเถียงยังไม่ได้ข้อสรุปทำให้ต้องพักการประชุมนาน 45 นาที เพื่อให้ กมธ. และ สนช. ที่ยังติดใจหารือนอกรอบ และผลการหารือนอกรอบดังกล่าวทำให้ กมธ. ยอมแก้ไข มาตรา 3 วรรคสอง (2) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลการฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้ง ขณะที่ยอดรวมของธุรกรรมดังกล่าวยังคงเดิม คือ ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 ผลปรากฏว่า ที่ประชุม สนช. ที่มีผู้แสดงตนต่อที่ประชุม 146 คน ลงมติเห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. ที่ระบุให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูล ได้แก่ สถาบันการเงินของเอกชน และของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องส่งรายละเอียดให้กรมสรรพากร เพื่อใช้ประมวลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อคัดเลือกรายบุคคลที่มีความเสี่ยต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมสรรพากรต้องพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจแบบเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้ประชาชนเสียภาษีได้ถูกต้องและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด