หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ได้เสนอให้บัตรเลือกตั้งใช้ชื่อของผู้สมัครกับหมายเลขเบอร์เท่านั้น โดยไม่มีโลโก้ของพรรคการเมือง และชื่อพรรคปรากฎอยู่ ในการประชุมของ คสช. ร่วมกับ กกต. และพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้นักการเมืองต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ และสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า กล่าวถึงข้อเสนอที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.กำลังเดินหน้าชงเรื่อง บัตรเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี 62 ที่ให้บัตรเลือกตั้ง มีเพียงเบอร์ และชื่อผู้สมัครเท่านั้น โดยไม่ต้องมีชื่อพรรคการเมือง-ไม่มีโลโก้พรรคการเมือง ปรากฎอยู่ในบัตร
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว่า ขอตั้งคำถามกลับไปยังผู้มีอำนาจ ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ที่ต้องการให้พรรคการเมือง ได้คัดสรรคนที่เหมาะสม มาลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือ ติดปากกันว่า "พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค" แต่บัตรเลือกตั้ง กลับจะไม่ให้พิมพ์ชื่อพรรคที่นักการเมืองสังกัด แล้วจะบังคับให้สังกัดพรรคการเมืองกันไปเพื่ออะไร
และผู้ที่มีหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งเป็นของคนทำรัฐประหาร หรือหน้าที่ของกกต. ที่สำคัญต้องถามกลับไปยังหัวหน้า คสช. ว่ากลัวอะไร ถึงจะไม่ยอมให้พิมพ์ชื่อพรรรคการเมือง โลโก้พรรคการเมืองลงในบัตรเลือกตั้ง
ดังนั้นขอเรียกร้องต่อ กกต. ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมและเป็นกลาง ต้องไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับสั่งการ และการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ
ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นเรื่องที่แปลกมาก และจะก่อให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งครั้งใหญ่
ทั้งนี้ บัตรเลือกตั้งที่ถูกต้อง และต่างประเทศใช้กัน จะต้องมีเลขผู้สมัคร ชื่อและนามสกุลผู้สมัคร พรรคที่ผู้สมัครสังกัด และโลโก้พรรค เพื่อเป็นการเตือนสติประชาชน เพราะหากมีแค่ตัวเลข ประชาชนจะไม่สามารถจำได้ หรือเกิดความสับสน ซึ่งไม่ใช่เจตจำนงที่แท้จริงของการเลือกตั้งของประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ จึงตั้งข้อสังเกต ว่า การยกเลิกโลโก้ เอื้อประโยชน์ต่อการทุจริต
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รัฐบาล รวมถึง คสช.พยายามออกแบบกติกาการเลือกตั้ง ให้เอื้อประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจทุกวิถีทาง การออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ใช้ชื่อของผู้สมัคร กับหมายเลขเบอร์ มองไม่เห็นเหตุผล นอกจากว่าจะเป็นการยิ่งสร้างอุปสรรคให้กับพรรคการเมือง และประชาชนในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะหากไม่มีชื่อพรรคการเมือง ไม่มีโลโก้พรรคการเมือง ก็ยิ่งแต่จะทำให้ประชาชนสับสน จนอาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ตรงตามเจตจำนงของประชาชนที่แท้จริง
พร้อมตั้งคำถามว่า นายกรัฐมนตรี มีขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างไร ถึงต้องมาออกแบบกติกา ออกแบบบัตรเลือกตั้งได้ด้วย เพราะที่ถูกต้องคือ อำนาจและหน้าที่นี้ เป็นของ กกต. ส่วนตัวมองได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จงใจแทรกแซงอำนาจการทำงานของ กกต. ใช่หรือไม่
ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีต กกต. โพสต์ข้อความบนเฟชบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้บัตรเลือกตั้ง มีเพียงเบอร์และชื่อผู้สมัคร
เพราะชื่อพรรค หรือ โลโก้ของพรรคเป็นสาระสำคัญของการกาบัตร ดังนั้น บัตรเลือกตั้งที่สมบูรณ์ ควรประกอบด้วย หมายเลขที่จะให้เลือก ชื่อพรรค โลโก้พรรค และชื่อผู้สมัคร
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนว่า จะสามารถอ่านชื่อผู้สมัครได้หรือไม่ จึงต้องคิดให้รอบคอบ การที่นายกรัฐมนตรีเสนอให้เหลือเพียง เบอร์และชื่อผู้สมัคร ถือเป็นเพียงเสียงจากประชาชนคนหนึ่ง ที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ กกต.
นายสมชัย ยังระบุด้วยว่า แนวคิดดังกล่าว ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สร้างภาระความสับสนให้แก่ประชาชน
ด้าน นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่ไม่มีโลโก้ของพรรคการเมือง และชื่อพรรค ว่า ในการประชุมจัดทำแผน ขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง และแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า การใส่ชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง อาจจะทำให้เกิดปัญหาสำหรับการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะบัตรเลือกตั้งที่พิมพ์ขึ้น จะถูกใช้ในการเลือกตั้งทั้งในและต่างประเทศ
จึงกังวลเรื่องการขนส่งบัตร หากเกิดปัญหา ผู้ที่ลงทะเบียนไม่ได้รับบัตรเลือกตั้ง กกต. จะไม่สามารถจัดส่งบัตรเลือกตั้งสำรองให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ เพราะจะต้องส่งบัตรเลือกตั้งของเขตที่ผู้ลงทะเบียนมีสิทธิ์ ดังนั้นบัตรเลือกตั้งจึงจะเหลือแค่หมายเลข และช่องกาบัตรเท่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้บอกในที่ประชุมว่า พรรคการเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตัดชื่อและโลโก้พรรคออกจากบัตรเลือกตั้งเป็นการที่ คสช.แทรกแซงการทำงานของ กกต. นั้น รองเลขากกต.ยืนยันไม่เกี่ยวกัน เพราะเรื่องบัตรเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ กกต. กังวลถึงปัญหาการขนส่ง ไม่ได้เกิดจากปัญหาอื่น
ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้า กกต. จะมีการพิจารณาเรื่องบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุป และเริ่มดำเนินการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งต่อไป