ภาคใต้เตรียมรับมือพายุ "ปาบึก" ถล่มอ่าวไทย 3-5 มกราคมนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรง พร้อมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่องพายุ "ปาบึก" (PABUK) ฉบับที่ 10 ความว่า เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 2 มกราคม 2562 พายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวน และเคลื่อนลงอ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562
และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยมีผลกระทบดังนี้
โดยในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล
ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 2-5 มกราคม 2562
เรื่องดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรับมือพายุโซนร้อนปาบึก ที่จะเคลื่อนตัวเข้าทางตอนใต้ของไทยในวันที่ 3-5 มกราคมนี้ ว่า ได้เตรียมการมาแล้วก่อนหน้านี้ 2 วัน โดยได้แจ้งเตือนทุกกลุ่มอาชีพ ประมง ท่องเที่ยว การสัญจรทางเรือ ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมขอความร่วมมือภารเอกชน และขณะนี้ได้สั่งห้ามเรือโดยสารออกเดินเรือแล้ว
ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กองทัพเรือ กองทัพบก และกรมเจ้าท่า ให้มีการประชุมเตรียมความพร้อมหมดแล้ว ซึ่งคาดว่า 3-5 มกราคมนี้จะมีฝนตกชุกจึงต้องเตรียมการรับมือเรื่องน้ำท่วมด้วย
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนทุกคน ติดตามข่าวสารและสภาพอากาศ โดยยืนยันว่ารัฐบาล เต็มที่ในการช่วยเหลือบรรเทาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมในการเฝ้าระวัง ติดตาม และ เตรียมการเผชิญเหตุกรณีพายุโซนร้อน ปาบึก ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยัง 14 จังหวัดพื้นที่ภาคใต้ และ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยมีผู้แทนหน่วยงานตามโครงสร้างของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
พลเอก อนุพงษ์ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเฝ้าระวัง ติดตาม และเตรียมการเผชิญเหตุ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการรับมือ ป้องกัน และ แก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ รวมทั้งให้มีการประเมินสถานการณ์ ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำ และ แนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
จัดเตรียมความพร้อมให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบสาธารณูปโภค ด้านคมนาคม และสิ่งสาธารณประโยชน์ รวมทั้งให้จังหวัดจัดทำแผนการเผชิญเหตุ แผนอพยพ และแผนการฟื้นฟูภายหลังการเกิดเหตุให้ครอบคลุมทั้งระบบอีกด้วย
ส่วนการเตรียมพร้อมรับมือของคนในพื้นที่ โดยที่ ริมอ่าวท่าศาลา ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนประมงพื้นบ้าน ต่างลากเรือประมง ไปเก็บในคลองชั้นใน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ จากสภาพคลื่นลมที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายเจริญ โต๊ะอีแต นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ยอมรับว่า มีความวิตก เนื่องจากสภาพอากาศมีลมตะวันตกพัดเข้ามาด้วย เหมือนเป็นสัญญาณเตือนก่อนลมใหญ่จะเข้าหาฝั่ง
ส่วนบริเวณท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการขนส่งบุคคลากรของแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ล่าสุดนั้น ได้มีการอพยพเจ้าหน้าที่ขึ้นฝั่งเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยการอพยพบุคลากรเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
ขณะที่หมู่บ้านชาวประมง หมู่ที่ 2 ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นพื้นที่แรก หากเกิดพายุพัดเข้าสู่พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เช่นเมื่อปี 2505 พายุโซนร้อนแฮเรียต ได้สร้างความเสียหายให้กับชีวิตผู้คน และ ทรัพย์สิน จนไม่อาจประเมินค่าได้ มาในปีนี้ ชาวบ้านที่เคยเผชิญกับความรุนแรงของภัยธรรมชาติในครั้งนั้นต่างมีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับการเตือนภัยในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า กองทัพภาคที่ 4 กำลังจัดเตรียมความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์การกู้ภัย ทั้งกำลังพลหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อให้เข้าให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหรือในเขตพื้นที่เกิดภัยได้ทันที
สำหรับศูนย์ให้การช่วยเหลือรวม 22 ศูนย์ ในเขตพื้นที่ภาคใต้จะพร้อมเต็มอัตรา ตั้งแต่ 18.00 น.วานนี้ (2 ม.ค.)
นอกจากนี้ ชาวบ้านในตำบลแหลมตะลุมพุก พบซากวาฬขนาดใหญ่ ถูกคลื่นใหญ่ซัดมาเกยหาดอยู่บริเวณหาดทรายหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแหลมตะลุมพุก เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้ากู้ซากได้เนื่องจากมีความยาวกว่า 10 เมตร ประมาณน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 2 ตัน
สำหรับวาฬตัวนี้คาดว่า น่าจะเป็นวาฬบรูด้า ซี่งเป็นวาฬที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวไทย ตายมาแล้วไม่น้อยกว่า 2-3 สัปดาห์ในทะเลลึก จนกระทั่งคลื่นซัดมาเกยหาด
ขณะที่ชาวบ้านต่างเกรงว่า การตายของวาฬและลอยมาเกยหาดในบริเวณนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้จากพายุปาบึก
ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เคลื่อนย้ายกำลังพลและเครื่องจักร พร้อมอุปกรณ์ไปรับสถานการณ์ที่จังหวัดชุมพร เพื่อรับมือพายุโซนร้อนปาบึกแล้ว
ขณะที่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ปราจีนบุรี เคลื่อนย้ายกำลังพลและเครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆไปเตรียมความพร้อมในพื้นที่ อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย ตั้งแต่คืนวานนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (3 ม.ค.) ทางโรงพยาบาลบางสะพาน จะมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนัก 12 รายไปทำการรักษาต่อที่โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ เป็นการชั่วคราว หลังจากมีการประกาศเตือนเรื่องพายุโซนร้อนปาบึก ถึงแม้จะยังไม่มีฝนตกลงมาก็ตาม แต่เพื่อความไม่ประมาท และเชื่อว่าจะเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อมที่ดี
ส่วน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่ง รวมถึงผู้ประกอบการเรือโดยสาร ขอให้เริ่มหยุดให้บริการในเวลา 24:00 น. คืนวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา
และจากการประเมินสภาพคลื่นลมในทะเล ทำให้เรือนอน ซึ่งเป็นเรือไม้จุคน 60-150 คน เดินทางจากอำเภอเมืองไปยัง เกาะสมุย-เกาะพะงัน และ เกาะเต่า หยุดให้บริการ
ขณะที่ เรือเร็วลมพระยา ยังให้บริการถึงวันที่ 3 และจะหยุดให้บริการในช่วงค่ำของวันที่ 3 ถึงวันที่ 4 มกราคม
เช่นเดียวกับ เรือโดยสารเฟอร์รี่ ยังให้บริการเดินเรืออยู่ แต่จะหยุดการจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า ช่วง 3-5 มกราคม และทยอยหยุดการเดินเรือในวันที่ 3 ตั้งแต่เวลาบ่ายโมง เป็นต้นไป
ด้านแบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แจ้งสถานการณ์ล่าสุดของพายุปาบึก ว่า ขณะนี้พายุปาบึกยังเป็นพายุโซนร้อน ที่มีความเร็วลมอยู่ที่ 35 นอตต่อชั่วโมง หรือ ประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่คาดว่า เมื่อพายุหันหน้าเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยความเร็วลมจะเพิ่มขึ้น
ซึ่งศูนย์อุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่นคำนวณไว้อยู่ที่ 55 นอต หรือราว 90-95 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งความเร็วลมดังกล่าวยังอยู่ในช่วงของพายุโซนร้อนอยู่ แต่เมื่อเปรียบเทียบความเร็วลมแล้วพบว่า มีความใกล้เคียงกับพายุโซนร้อนแฮเรียต ที่เกิดขึ้นที่บริเวณแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2505
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ด๊อกเตอร์ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก เตือนประชาชน ที่อาศัยอยู่ใกล้อ่าวไทย โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ชุมพรตอนใต้ เตรียมรับมือพายุ “ปาบึก”
โดยระบุเนื้อหาบางตอนว่า “เราแทบไม่เคยเจอไต้ฝุ่นหรือพายุแรงๆ เพราะอ่าวไทยไม่ได้อยู่ในเส้นทางประจำของพายุ เมื่อไม่คุ้นเคย การเตรียมการรับมืออาจไม่ถนัดเหมือนเจอประจำ นอกจากนี้ พื้นที่แต่ละแห่งยังเสี่ยงไม่เท่ากัน บางแห่งริมอ่าวไทยอาจเป็นแหลมทราย ยื่นไปในทะเล หรือเป็นชายฝั่งหันรับลมเต็มๆ จึงต้องระวังเพิ่มให้มาก
โดยเฉพาะพื้นที่เคยโดนในอดีต พายุเคลื่อนตัวช้า แค่ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ ตอนนี้จ่ออยู่ที่ปากอ่าวไทยด้านใต้แหลมญวน เวียดนามเองก็เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว
โดยปกติพายุจะแรงในทะเล เมื่อขึ้นฝั่งจะเบาลงอย่างเร็ว ตอนนี้ปาบึกอยู่ในทะเล และ จากจุดนั้นจนถึงในอ่าวไทย ไม่มีแผ่นดินใดขวางกั้น
พายุในช่วงเข้าอ่าวไทย จึงน่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงตอนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครทำนายได้เป๊ะๆ แต่ดูจากแนวโน้ม เส้นทางของพายุ จะขึ้นกับลมหนาวที่มาจากเหนือ หากลมแรง พายุจะลงล่างหน่อย ตอนนี้ลมหนาวเริ่มเบาลง เส้นทางพายุทะแยงขึ้นเหนือ มีแววว่า ใจกลางพายุอาจผ่านแถวสมุย-พะงัน ก่อนเข้าไปที่สุราษฎร์ธานี และ ชุมพรตอนใต้
ทั้งหมดนี้ ด๊อกเตอร์ ธรณ์ ย้ำว่า อ่านแล้วอาจน่ากลัว แต่ผมถือว่า ไม่ประมาทย่อมดีกว่า และ ขอให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุฯ อย่างใกล้ชิด”