ชาวบ้าน 6 อำเภอ จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัดใกล้เคียง อพยพหนีพายุ "ปาบึก" แล้ว จ่อขึ้นฝั่ง จ.นครศรีธรรมราช ค่ำวันที่ 4 มกราคมนี้ ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงมาก ตั้งแต่ช่วงค่ำถึงดึก อุตุฯ ยันมีความเร็วเท่ากับพายุแฮเรียต ที่ถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ลงนามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 14 ความว่า เมื่อเวลา 22.00 น. ของวันที่ 3 มกราคม 2562 พายุโซนร้อน “ปาบึก” ได้เคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทยตอนล่างแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 450 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ความเร็วลมสูงสุด ใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562
ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ มีผลกระทบดังนี้
ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 ภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรง และคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรงดการเดินเรือตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562
ประกาศ ณ วันที่ 3 มกราคม 2562 เวลา 23.00 น.
อุตุฯ ยัน "ปาบึก" รุนแรงเท่า "แฮเรียต" ทำฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงมาก
ขณะที่ นายสุรพงษ์ สารปะ ผู้อํานวยการส่วนพยากรณ์อากาศกลาง ในฐานะโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงว่า พายุปาบึก ไม่ได้รุนแรงสุดในรอบ 50 ปี เนื่องจากในพ.ศ.2532 เกิดไต้ฝุ่นเกย์ ที่รุนแรงกว่ามาก แม้ความเร็วลมจะไม่เทียบเท่าไต้ฝุ่นเกย์ แต่จะทำฝนมากกว่า โดยพายุปาบึก มีความเร็วเท่ากับพายุแฮเรียต ที่ถล่มแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505 ความเร็วลมอยู่ที่ 90-95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่บางช่วงอาจมีความเร็วลมกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้
ซึ่ง ในวันที่ 4 มกราคม พายุปาบึก จะส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยจะขึ้นฝั่งทางด้านอำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอสิชล ของ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรงมาก ตั้งแต่ช่วงค่ำถึงดึก หรือ จนกว่าพายุจะเคลื่อนตัวผ่านไป น่าห่วงบริเวณชายฝั่งจะเกิดคลื่นสูง 3- 5 เมตร และ อาจเกิดสตรอมเสิร์ชสูงถึง 5 เมตร ส่วนช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร ฝนจะเริ่มตกหนัก
ส่วนวันที่ 5 มกราคม พายุจะเคลื่อนไปปกคลุมฝั่งจังหวัดชุมพร ระนอง และ รวมถึงบางพื้นที่ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ดังนั้นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากต้องระวังให้ดี
สำหรับวันที่ 6 มกราคม พายุจะเคลื่อนตัวออกยังอ่าวเบงกอล แต่ยังมีฝนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี
ขณะที่ กทม.จะมีฝนช่วงวันที่ 5-6 มกราคม แต่ไม่ใช่ฝนหนัก ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของพายุ
นายกฯ ประชุม 16 ผู้ว่าฯจังหวัดภาคใต้ รับมือพายุปาบึก
ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) ได้ร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทางไกล กับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และ 2 จังหวัดภาคกลางตอนล่าง ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์
โดยนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ได้พระราชทานความห่วงใยมายังทุกคน และสิ่งสำคัญสุดทุกคนต้องปลอดภัยเป็นอันดับแรก ชีวิตทรัพย์สินต้องดูแลให้มากที่สุด
ยืนยันขณะนี้มีความพร้อม 24 ชั่วโมง และ มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าแล้ว ขอให้ทุกจังหวัดจัดเตรียมประสานสัมพันธ์ให้ดี ไม่ใช่พูดคนละทางสองทาง จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก
ขณะที่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อิทธิพลจากพายุจะทำให้เกิดปริมาณฝนสูงถึง 300 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงและจะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินพังทลายได้ สั่งทุกหน่วยงานทำงานร่วมกันและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยวและประชาชนไปยังที่ปลอดภัยแล้ว
อพยพชาวบ้าน 6 อำเภอ จ.นครศรีธรรมราช
ส่วน นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการ จ.นครศรีธรรมราช สั่งการให้ 6 อำเภอ ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ความยาวกว่า 220 กิโลเมตร ประกอบด้วย อ.ขนอม สิชล ท่าศาลา ปากพนัง หัวไทร และ อ.เมือง อพยพประชาชนไปพักชั่วคราวที่ศูนย์อพยพ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 ม.ค.) โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียง ให้อพยพไปเป็นลำดับแรก
โดยในขณะนี้จังหวัดได้ตั้งศูนย์อพยพไว้แล้ว 190 ศูนย์ รองรับได้ 86,000 คน ส่วนเรือทุกชนิดทางจังหวัดออกประกาศห้ามออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมนี้
สำหรับอำเภอที่ติดเชิงภูเขา ขอให้เฝ้าระวังเรื่องดินโคลนถล่ม เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมถึง 200-300 มิลลิเมตร/วัน
เปิดใจชาวปากพนังเล่านาที "พายุแฮเรียต" ถล่มบ้านแหลมตะลุมพุก
ขณะที่ นายสมนึก ซ้วนลิ่ม อายุ 65 ปี ชาวอำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เล่าถึงเหตุการณ์พายุแฮเรียตถล่ม บ้านแหลมตะลุมพุก เมื่อปี 2505 ว่า ขณะนั้นตนอายุประมาณ 7-8 ขวบ สามารถรับรู้ถึงมหันตภัยที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ
โดยก่อนเกิดพายุแฮเรียตจะถล่มบ้านแหลมตะลุมพุกนั้น มีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน ส่วนท้องฟ้าสีแดง และมีลมกระโชกรอบทิศทางเหมือนวงจักร และ มีทะเลหนุนสูงขึ้นชายฝั่งกว่า 1 เมตร ไม่สามารถเดินออกไปชายหาดได้ ส่วนสัตว์ทะเล พวกปลา กุ้ง หมึก ลอยขึ้นมาบนชายฝั่งจำนวนมาก ส่วนบ้านของตนได้รับความเสียหายทั้งหลัง
ชาวบ้านริมทะเล อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ขนของหนีพายุปาบึก
ขณะที่ ชาวบ้านพอด หมู่บ้านใหญ่ริมทะเล ในพื้นที่หมู่ 1 ต.ชลคราม อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่หลายร้อยคน ก็ได้วางแผนรับมือกับพายุปาบึก โดยมีการอพยพย้ายคนและของมีค่าบางส่วนออกไปอยู่บ้านญาติแล้วไม่ต่ำกว่า 10 หลัง
ส่วนที่เหลือก็ย้ายเด็กและคนแก่ออกไปอยู่บ้านญาติที่ปลอดภัย รวมถึงรถยนต์ก็ย้ายไปอยู่ที่โล่ง ส่วนประชาชนที่เหลือก็คอยประเมินสถานการณ์หากวิกฤติ ก็พร้อมเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ได้ทันที
สำหรับสถานการณ์โดยรวมสภาพอากาศปิด คลื่นลมริมทะเลแรง น้ำทะเลเป็นสีขุ่น แต่ยังไม่มีฝน เจ้าหน้าที่ยังร่วมกับชาวบ้านติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
จ.ชุมพร รับมือ "ปาบึก" ขึ้น 5 อำเภอ สั่งปิดโรงเรียน-ห้ามเรือออกฝั่ง
ทางด้าน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบ และ เป็นอีกพื้นที่ ที่พายุจะขึ้นสู่ฝั่ง นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมทั้งทางด้านระบบสื่อสาร และ การรับแจ้งเหตุจากประชาชน
ในส่วนของการสั่งอพยพชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัย จะเริ่มอพยพในวันนี้ (4 ม.ค.) หลังจากประเมินสถานการณ์ กับผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาชุมพรในช่วงเช้า พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ ยานพาหนะ กำลังคน
ผู้ว่าฯ ชุมพร เปิดเผยว่า จ.ชุมพรจะได้รับผลกระทบในวันที่ 4 มกราคม ช่วงเย็น ใน อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.เมือง อ.สวี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พายุจะขึ้นสู่ฝั่ง คาดว่าจะมีผลกระทบต่อประชาชนหลายหมื่นคน
ขณะนี้ได้สั่งห้ามเรือทุกชนิดออกจากฝั่ง และ สั่งปิดโรงเรียนทุกโรงในวันที่ 4-5 มกราคม หรือจนกว่าสถานการณ์จะปกติ
ทร.จัดเรือรบ-อากาศยานพร้อมช่วยผู้ประสบภัย "ปาบึก"
ทางด้าน พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ สั่งการให้หมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล มีเรือหลวงอ่างทอง หมายเลข 791 ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เป็นเรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล และเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ที่จอดเทียบท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี เตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด ในปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ในภารกิจครั้งนี้ ยังได้จัดเตรียมอากาศยาน 2 ลำ ชุดปฏิบัติการพิเศษจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ชุดแพทย์สนามจากกรมแพทย์ทหารเรือ และชุดฟื้นฟูพื้นที่จากกรมก่อสร้างและพัฒนา ฐานทัพเรือสัตหีบ
และยุทโธปกรณ์ เครื่องมือจักรกลหนัก ที่ใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่และสิ่งปลูกสร้าง ทั้งนี้ หากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติจากวาตภัย เรือหลวงอ่างทอง พร้อมที่จะออกเรือจากท่าเทียบเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ เดินทางเข้าพื้นที่ใน จ.นครศรีธรรมราช ภายใน 15 ชั่วโมง สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
อ.ระโนด จ.สงขลา ฝนตกทั้งคืน - ชาวบ้านอพยพหลับไม่ลง
ส่วนพื้นที่ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ล่าสุดฝนยังคงตกตลอดคืนที่ผ่านมา จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน ปาบึก ที่ตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านปากแตระ บ้านท่าบอน อำเภอระโนด บางส่วนที่อพยพหนีพายุ ขึ้นมาอยู่ในที่ปลอดภัย ทิ้งบ้านและผู้สูงอายุ และ ผู้พิการไว้ ยังคงข่มตาหลับไม่ลง เนื่องจากเป็นห่วงบ้านที่ทิ้งมา
โดยบางรายต้องยอม ทิ้งผู้สูงอายุไว้ที่บ้านเพียงลำพัง เช่นเดียวกับบางรายจำเป็นต้องทิ้งผู้พิการไว้เนื่องจากไม่สามารถอพยพมาพร้อมกันได้ ทำให้ชาวบ้านที่อพยพยังคงกังวลเป็นห่วง จากฝนที่ตกหนัก ลมกระโชกแรง เกรงบ้านจะถูกพายุถล่มในเวลาใดก็ได้
แม้ว่าทางเจ้าหน้าที่จะยืนยันว่า ในช่วงเช้าของวันนี้(4ม.ค.)จะเร่งลงไปทำการอพยพชาวบ้านในส่วนที่เหลืออยู่ออกมาให้หมด โดยจะนำมาพักในที่ปลอดภัย ซึ่งล่าสุด ทางด้านของเจ้าหน้าที่จากทัพเรือภาคที่ 2 สงขลาได้ลำเลียงรถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ พร้อมเรือท้องแบน และยุทโธปกรณ์อื่นๆลงพื้นที่อำเภอระโนดแล้ว
ส่วนทางด้านของ กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือยืนยันจุดศูนย์กลางของพายุปาบึก จะเริ่มเคลื่อนตัวจากทะเลอ่าวไทยขี้นฝั่งบริเวณอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช เขตรอยต่อกับอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในช่วงเช้าของวันนี้ ซึ่งจะทำให้ในบริเวณดังกล่าวจะมีคลื่นลมแรง และอาจจะซัดถล่มชายฝั่งของสองอำเภอ
สำหรับชาวบ้านที่มีบ้านเรือนในบริเวณดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยควรอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยก่อนเวลา 10 นาฬิกาของวันนี้ (4 ม.ค.)
10 วิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติเมื่อเกิดพายุ
ขณะที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ เปิดเผย 10 วิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติเมื่อเกิด "พายุ" และ ข้อควรปฏิบัติหลังเหตุการณ์สงบลง
1.ติดตามข่าวสาร-พยากรณ์อากาศที่เชื่อถือได้เช่น รัฐบาลหรือกรมอุตุนิยมวิทยา
2.เตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉินให้พร้อมเช่นน้ำ-อาหารแห้ง ยารักษาโรค ตะเกียง ไม้ขีดไฟ ไฟฉาย ถ่านแบตเตอรี่ เครื่องมือช่างตะปู ค้อน ลวด
3.ตรวจสอบความมั่นคงของอาคาร ประตู หน้าต่าง ปิดให้แน่นหนา กระจกควรหาแผ่นไม้มาตรึงไว้
4.นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านไว้ในที่ปลอดภัยหรือไว้บนที่สูง
5.ตรวจสอบสถานที่รองรับเหตุฉุกเฉินในช่วงเกิดภัยพิบัติประจำพื้นที่
6. เมื่อพายุมาแล้วอย่าตกใจ ปกป้องตนเองให้ปลอดภัยและช่วยเหลือผู้อื่น
7. ปิดเตาขณะทำอาหารเมื่อไฟฟ้าดับและปิดอุปกรณ์ที่ใช้แก๊สทุกชนิด
8. ถ้าอยู่ในบ้านหรืออาคาร อยู่ให้ห่างหน้าต่างหรือวัตถุอื่นๆที่อาจหล่นลงมา
9. ถ้าอยู่นอกบ้านหาที่หลบภัยในอาคารที่ใกล้ที่สุด หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้เสาไฟฟ้าและต้นไม้
10. ถ้ากำลังขับขี่ ควรจอดรถ และหยุดในบริเวณที่ห่างจากต้นไม้ สะพานลอย เสาไฟฟ้า
หลังจากพายุสงบแล้ว ควรตรวจสอบอาการบาดเจ็บของตัวเองและบุคคลรอบข้าง อพยพออกจากอาคารที่ได้รับความเสียหายและห้ามเข้าไปในอาคารดังกล่าวเด็ดขาด จนกว่าทางราชการจะประกาศยืนยันว่าปลอดภัยแล้ว
นอกจากนี้อย่าลืม ให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านโดยเฉพาะคนชราหรือคนพิการ และ คอยติดตามรับฟังข่าวสารจากทางการเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งหรือรับแจ้งว่าพายุได้สงบลงแล้ว