กกต. ออกประกาศวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว คือ วันที่ 24 มีนาคม พร้อมออกประกาศเกี่ยวกับเลือกตั้ง 5 ฉบับ โดยให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์
วานนี้ (24ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งส.ส. คือวันที่ 24 มี.ค. วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ ตั้งแต่วันที่ 4 - 8 ก.พ.ระหว่างเวลา 08.30 -16.30 น. และให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 4 -8ก.พ. ที่สำนักงานกกต. ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ
2.ประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด โดยกทม.จะมีส.ส.ทั้งสิ้น 30 คน
3.ประกาศ กกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยผู้สมัครต้องยื่นหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี และเงินค่าธรรมเนียมการสมัครคนละ 1 หมื่นบาท
4.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนน ก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง ในวันที่ 17 มีนาคม เวลา 08.00-17.00 น.
และ 5.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ส.ส.ก่อนวันเลือกตั้ง โดยยื่นขอลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.ถึงวันที่ 19 ก.พ. ซึ่งสามารถยื่นคำขอผ่านอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติ ในวันที่ 19 ก.พ. เวลา 24.00 น.
นายอิทธิพร ชี้แจงว่า ประกาศกกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้ผู้สมัครส.ส. ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีย้อนหลังเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปี คือ ปี 59-61 ซึ่งขณะนี้การยื่นภาษีปี 2561 ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครยังมีเวลาดำเนินการได้อยู่
แต่หากนับตามปฏิทินของ กกต.ที่จะรับสมัคร ส.ส.ในวันที่ 4-8 ก.พ.ทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคเหลือเวลาการยื่นภาษีให้เสร็จสิ้นเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น
นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า กกต.ได้มีหนังสือเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.แจ้งไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้เตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยประธานกกต. ได้ลงนามแต่งตั้ง กกต.เขต และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 350 เขตทั่วประเทศแล้ว
ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯกล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมืองวิจารณ์กรณีรัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการเหมือนอดีต และยังมีอำนาจตามมาตรา 44 นั้น โดยระบุว่า อำนาจเต็มของรัฐบาล เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุไว้
ทั้งนี้รัฐบาลพยายามจะไม่ใช้มาตรา 44 แต่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ และความจำเป็น ไม่ใช่ว่า นึกสนุกก็จะใช้มาตรา44 ทันที ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ