ตำรวจนครบาล เผยผลตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่จับรถควันดำ พบลดลงแล้ว เหลือวันละ 400 คัน ต่อวัน หลังกวดขันจับกุมอย่างเข้มข้น
พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงการกวดขันจับกุมรถควันดำ ต้นเหตุทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน ว่า ช่วงแรกใช้แผนตั้งรับเป็นหลัก ตั้งจุดตรวจควันดำประจำจุดต่างๆ
แต่หลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตรวจสอบพบว่า มีรถส่วนหนึ่งหลบเลี่ยงการตรวจ และฝ่าฝืนนำรถที่มีควันดำมาใช้ จึงเปลี่ยนไปใช้มาตรการเชิงรุก ตั้งชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่ 5 ชุด เข้าไปดำเนินการจับกุม
ผลการปฏิบัติปกติจับกุม ได้วันละ 500-600 รายต่อวัน ขณะนี้ลดลงเหลือวันละประมาณ 400 กว่าราย สันนิษฐานว่าผู้ประกอบการ หรือผู้ที่ขับรถน่าจะไม่นำรถควันดำออกมาใช้ เพราะรู้ว่าตำรวจกวดขันจับกุมอย่างเข้มข้น
และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ ยังไม่มีการจับกุมรถควันดำที่นำมาวิ่งซ้ำสอง เพราะหากตรวจพบรถควันดำเกินกฎหมายกำหนด ถ้าเป็นรถใหญ่จะพ่นสีห้ามใช้ ส่วนรถเล็กกรมควบคุมมลพิษจะติดสติกเกอร์ไว้
ขณะที่ เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) ตำรวจจราจร ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ,กรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ตั้งด่านตรวจจับควันดำ บนถนนลาดกระบัง แขวงทับยาว เนื่องจากเส้นถนนลาดกระบังเป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกและรถขนส่งเป็นจำนวนมาก
จากการตั้งด่านตั้งแต่ช่วงเช้า พบรถโดยสารไม่ประจำทาง มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน คือ ค่าทึบแสงเกินร้อยละ 45 ขึ้นไป จำนวน 1 คัน ได้พ่นสีสัญลักษณ์ห้ามใช้รถจนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไข พร้อมเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการในอัตราตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท
และพบว่าหากผู้ขับขี่ลบสัญลักษณ์ดังกล่าวออกเอง จะถือว่ามีคำผิด ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ตรวจการ มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลที่ควันดำเกินค่ามาตรฐาน จำนวน 10 คัน เฉพาะช่วงเช้า ตำรวจจราจรได้เปรียบเทียบปรับจำนวน 1,000 บาท และ สั่งให้แก้ไขปรับปรุง ขณะที่ทั้งวันวานนี้ยังมีการตั้งด่านตรวจวัดควันดำของกรมการขนส่งทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ร่วมกับตำรวจจราจร อีก 13 จุด
โดยสรุปจากการตั้งด่านตรวจควันดำ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมจนถึงปัจจุบัน พบรถปล่อยควันดำเกินค่ามาตรฐาน กว่า 10,000 คันในพื้นที่กรุงเทพฯ
ด้าน กรมควบคุมมลพิษ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เวลา 15.00 น. พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่มีสถานีที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ขณะที่ทั่วประเทศ มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 7 สถานี สูงสุดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดเลย
นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงปัจจัยสภาพอากาศที่ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลงว่า เนื่องจากมีเมฆเข้าปกคลุม อากาศเปิด ส่งผลให้ลมด้านบนช่วยพัดดึงนำฝุ่นละอองลอยขึ้นสูงพัดไปที่อื่น
ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ คาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะนิ่งจากความกดอากาศเข้าปกคลุมภาคกลาง จากนั้นมีฝนตกเล็กน้อย ก่อนที่อุณหภูมิจะลดต่ำลง จึงอยากให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือ