ชาวบ้านอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ร้องเรียนนายก อบต. หลังไม่มีน้ำใช้เลี้ยงวัว เนื่องจากมีคนสูบน้ำไปปลูกข้าวนาปรัง จนหนองน้ำแห้งขอด
นายสมพร กองกะมุด นายก อบต.โนนพะยอม พร้อมนายใจเพชร ขวาลำธาร ปลัดอำเภอชนบท เข้าตรวจสอบ บริเวณ หนองเบ็ญ ซึ่งเป็นหนองน้ำน้ำสาธารณะ ที่ บ้านหนองเบ็ญ หมู่ 9 ต.โนนพะยอม อ.ชนบท จ.ขอนแก่น หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ เนื่องจากมีคนสูบน้ำไปปลูกข้าวนาปรัง จนน้ำแห้งขอด
จากการตรวจสอบ พบว่า ด้านข้างหนองเบ็ญ มีการปลูกข้าวนาปรัง ประมาณ 7 ไร่ ภายในหนองเบ็ญ มีเครื่องสูบน้ำติดตั้งอยู่ นอกจากนี้ ยังพบชาวบ้านที่เลี้ยงวัวอยู่บริเวณดังกล่าว
จากการสอบถาม นางสำรอง หงส์แก้ว หนึ่งในชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากหนองเบ็ญแห้งขอด เล่าว่า วัวของชาวบ้านนับร้อยตัว ต้องลงมากินน้ำที่หนองเบ็ญ ซึ่งทุกปีไม่มีปัญหาเรื่องน้ำแห้งขอด แต่ปีนี้ น้ำจากแม่น้ำไม่ไหลเข้าหนองเบ็ญ
ประกอบกับมีชาวบ้านคนหนึ่ง สูบนำไปทำนาปรัง ทำให้ชาวบ้านคนอื่นได้รับความเดือดร้อน คาดว่า จะไม่มีน้ำพอใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ตนจึงต้องเตรียมซื้อภาชนะ เพื่อรองน้ำที่จะต้องซื้อให้วัวกิน
ด้านนายก อบต.โนนพะยอม และ ปลัดอำเภอชนบท ได้เรียกเจ้าของนาปรังคนดังกล่าว มาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ ทางอำเภอจึงเตรียมมาตรการสั่งให้ เจ้าของนารายนี้่ งดสูบน้ำจากหนองเบ็ญทันที
นอกจากนี้ ยังเตรียมสูบน้ำจากลำน้ำชีเข้าหนองเบ็ญ เพื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน
สำหรับหนองเบ็ญ เป็นหนองน้ำสาธารณะ ขนาด 14 ไร่ ที่ใช้ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้าน โดยมีการประกาศไม่ให้ดึงน้ำไปใช้การเกษตรในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งยังใช้เป็นหนองน้ำสำรอง เพื่อทำน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน ที่มีกว่า 1,200 หลังคาเรือน
ส่วนที่จังหวัดระยอง นายโชติชัย บัวดิษ ประธานชมรมชาวสวนผลไม้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรจังหวัดระยอง เผยว่า ชาวสวนผลไม้จังหวัดระยอง กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฝนไม่ตกมา 3-4 เดือน แล้ว
คาดว่า ภายใน 1 เดือน หากฝนยังไม่ตก จะทำให้สวนผลไม้ ไม่มีน้ำใช้ จำเป็นต้องตัด ต้นทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ที่กำลังจะขายในเดือนเมษายนนี้ทิ้ง เพื่อรักษาต้นแม่พันธุ์ไว้ในปีต่อไป
จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยทำฝนเทียม เพื่อช่วยเหลือชาวสวน ก่อนที่จะประสบปัญหาขาดทุน
ด้านนายปัญญา สุขสว่าง เจ้าของสวนมังคุดไทย พื้นที่หมู่ 4 ตำบลหนองตะพาน อำเภอบ้านค่าย กล่าวว่า หากสามารถทำให้ฝนตกได้ เดือนละ 3 ครั้ง ผลผลิตก็จะออกมาดี อย่างไรก็ตาม ไม่ควรรอจนแล้งจัด จึงค่อยช่วยเหลือ เพราะจะทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งหมด