คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นพบการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่า โดยเปิดเผยว่า มีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ผู้ช่วยศาตราจารย์นายแพทย์อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการใช้เซลล์นักฆ่ารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ว่า ถือเป็นการรักษาแบบใหม่
ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในโครงการวิจัย ยังไม่ได้เป็นการรักษาแบบมาตรฐาน โดยคาดว่าจะมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80 % และยังช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ในขณะนี้มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 5 ราย เบื้องต้นพบว่า เซลล์นักฆ่าสามารถช่วยควบคุมเซลล์มะเร็งได้ ในคนไข้ที่มีเซลล์มะเร็งในจำนวนไม่มาก และยังไม่พบว่ามีเซลล์มะเร็งกลับมา
โดยทางทีมแพทย์ที่รักษาได้มีการติดตามผลจากผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน กว่า 2 ปี เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถควบคุมโรคได้ในระยะยาว และผู้ป่วยจะมีโอกาสหายได้ในอนาคต
สำหรับเซลล์นักฆ่า เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ซึ่งเซลล์ชนิดนี้เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนน้อยของเม็ดเลือดขาวทั้งหมดโดยจะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย
โดยทั่วไปเซลล์นักฆ่าจะมีหน้าที่หลักคือการลาดตระเวนและตรวจตราหาเซลล์แปลกปลอม เซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ เซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ภายในร่างกาย