ยังมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง หลังนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจาก กกต. กรณีขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ ซึ่งนายธนาธร จะเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ช่วงค่ำวันนี้ ก่อนหารือทีมกฎหมายเตรียมชี้แจง กกต.
ประเด็นนี้ยังร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงต้องรอคำชี้แจงจากตัวนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ต่อ กกต.ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้เอกสารแจ้งข้อกล่าวหา
คือเมื่อวานนี้ ล่าสุด นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ทวิตข้อความ บอกว่า" เย็นนี้ @Thanathorn_FWP จะถึงเมืองไทยประมาณ 19.00 น. สนามบินสุวรรณภูมิ ผดส.ขาเข้า เพื่อเดินหน้าต่อสู้ยืนยันความบริสุทธิ์กรณีโอนหุ้นต่อทางกกต. เรามั่นใจในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานทั้งหมด ดังนั้น ไม่ต้องเป็นห่วงแต่ร่วมกันเป็นกำลังใจ ยืนเคียงข้างธนาธรให้ผ่านพ้นไปให้ได้ครับ"
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าฝ่ายกฎหมายของบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด ได้ส่งเอกสารชี้แจงต่อ กกต.แล้ว หลังจากที่เมื่อวานนี้ ได้เดินทางมายื่นเอกสาร แต่ปรากฏว่า ยื่นไม่ได้เนื่องจากนอกเวลาทำการ
นายสุรวัชร สังขฤกษ์ กลุ่มการเมืองภาคประชาชน ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต. เพื่อขอให้ระงับการรับรองผลการเลือกตั้งว่าที่ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเป็นโมฆะ
เนื่องจาก กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นผู้สมัครส.ส. ซึ่งมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ และทำให้ผลการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ทั้งหมดโมฆะด้วย เพราะนายธนาธรเป็นผู้ออกหนังสือรับรองการสมัคร
นายสุรวัชร กล่าวว่า ขอให้กกต.ดำเนินการตรวจสอบและส่งคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมส่งคำร้องไปยังศาลฎีกาให้ดำเนินคดีอาญากับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคและเลขาธิการพรรค
ส่วนประเด็นว่าการโอนหุ้นของนายธนาธร ให้กับนางสมพร จึงรุงเรืองกิจ ซึ่งเป็นคุณแม่ มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม ซึ่งเป็นการโอนก่อนสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ยังมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่าง นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม และคำพิพากษาศาลฎีกา มาอธิบายว่าโอนหุ้นจะสมบูรณ์จนกว่าจะได้จดแจ้งในทะเบียนผู้ถือหุ้น และในช่วงที่ยังไม่ได้จดแจ้ง จะใช้ยัน (ยืนยันต่อ) บุคคลภายนอกไม่ได้
ซึ่งกรณีนายธนาธร ไม่ได้นำไปจดแจ้งการโอนในทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียน จนกระทั่งวันที่ ๒๑ มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงหลังการสมัครรับเลือกตั้ง ในทะเบียนของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ยังปรากฎชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ จึงไม่อาจอ้างว่าได้มีการโอนหุ้นไปแล้วเพื่อใช้ยัน กกต. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
นายธนาธรจึงมีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เพราะยังเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆตามข้อห้ามทางกฎหมาย และการสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิย่อมมีความผิดตาม พรป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 151 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 20 ปี
ในช่วงท้าย นายชูชาติ ระบุว่า ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นดุลพินิจของแต่ละคน แต่แม้ไม่เห็นด้วยผู้ที่เป็นอารยชนย่อมไม่ด่าด้วยคำหยาบเฉกเช่นผู้ไร้การศึกษา และขาดการอบรมสั่งสอนจากบุพการี เพราะมีนิสัยเหมือนกัน
ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ให้ความเห็นว่า มีความยึดโยงของตัวกฎหมาย คือมาตราที่ 42 อนุ 3 ที่ห้ามถือครองหุ้นสื่อมวลชน ซึ่งเป็นปัญหาคุณสมบัติ ที่ กกต.ควรตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง
จึงมีคำถามว่า กกต. จะใช้เรื่องคุณสมบัติ หรือ เรื่อง การกระทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม มาเป็นประเด็นข้อกฎหมายในการจัดการปัญหานี้ หากใช้เรื่องคุณสมบัติ "อย่างเดียว" ไม่น่าเดินต่อได้ เพราะผ่านช่วงเวลาดำเนินการมาแล้ว
แต่เรื่องนี้จะนำไปสู่การใช้มาตรา 132 ที่ระบุว่า "ผู้ใดกระทำการอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม" ซึ่งนายสมชัย แปลง่ายๆว่า หากธนาธรไม่มีสิทธิสมัครด้วยคุณสมบัติแต่ยังลง และความนิยมในตัวนายธนาธรนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หมายความถึงสึนามิลูกใหญ่กำลังมาถึงพรรคอนาคตใหม่ เพราะจะมีประเด็นต่อว่า ทุกคะแนนของอนาคตใหม่ได้มาด้วยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
นายสมชัยมองว่า กรณีนี้ จะโทษนายธนาธรฝ่ายเดียวไม่ได้ เนื่องจาก กกต.เองก็มีกลไกในการตรวจสอบคุณสมบัติ และใช้เวลาในการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นสัปดาห์แต่ผ่านการเลือกตั้งไปเป็นเดือนแล้ว จึงหยิบยกเรื่องราวมาตรวจสอบ
จึงเป็นคำถามใหญ่ที่ถามกลับไปยัง กกต.ได้ว่า มีความผิดในเรื่องดังกล่าวด้วยหรือไม่ โดนิโมทางการเมืองกำลังเริ่มทำงาน และให้ระวังคนที่เริ่มเล่นด้วยว่า โดมิโนตัวสุดท้ายจะกลับมาล้มทับตัวเองหรือไม่
ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนประเทศ (สปท.) โพสต์คำพิพากษาศาลฎีกา ที่เคยตัดสิทธิ์อดีตผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากถือหุ้นสืิ่อ แม้เจ้าตัวจะแย้งต่อศาลว่าบริษัทไม่ได้เกิดกิจการสื่อสารมวลชน เป็นเพียงแค่วัตถุประสงค์การจดแจ้งบริษัทเท่านั้น แต่ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นลักษระเช้นนี้ฟังไม่ขึ้น
รวมถึงก่อนหน้านี้ได้หยิบยกกฎหมายเลือกตั้งมาตรา 54 วรรคสองได้บัญญัติว่า "หากผู้สมัครรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วปกปิดหรือไม่แจ้งข้อเท็จจริงนั้น ให้ถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม" มาเปรียบเทียบให้เห็นแม้มาตรานี้จะเป็นแบบเขตเลือกตั้งไม่ใช่บัญชีรายชื่อ แต่ถ้านำมาเทียบกับมาตรา 132 จะถือว่าเข้าข่ายเพราะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเช่นกัน