โฆษกและรองโฆษกพรรคเพื่อไทย เตือนที่มาของ ส.ว. อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่อเป็นโมฆะ ขู่ประธานสภาฯไม่บรรจุญัตติอาจขัด ม.157
วันที่ 21 มิ.ย. 2562 นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการสัมมนา ส.ส. ที่ห้องประชุมทีโอที เมื่อวานที่ผ่านมา ที่บอกว่าจะไม่ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลัง และต้องเดินไปข้างหน้าในสิ่งที่ดีขึ้น
โดยระบุว่า เมื่อมองดูสภาพการเมืองในปัจจุบัน ที่พรรคไม่มีสัจจะหลายพรรคเข้าร่วมเป็นรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นนายกมนตรี โดยนายชวน เป็นประธานสภาฯและเป็นประธานรัฐสภาอีกตำแหน่ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองได้ถอยหลังไปอย่างมากตลอด 5 ปี แม้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กำลังสืบทอดอำนาจเผด็จการ คสช. ให้อยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ตามบทเฉพาะกาล
นอกจากนี้ นางลดาวัลลิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายชวน ปฏิเสธไม่บรรจุญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านว่า การตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาและสอบสวนหาข้อเท็จจริง แล้วนำมารายงานให้สภาฯรับทราบเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งญัตติของพรรคฝ่ายค้านไม่ใช่การตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ว. แต่เป็นการตรวจสอบกระบวนการสรรหา ส.ว. เป็นการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. และ คสช. คนอื่นๆ รวมทั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งไม่ได้มีความเป็นกลางทางการเมือง ว่าสิ่งที่ทำมานั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส.ว. จึงไม่ต้องร้อนตัว หรือหวาดกลัวใดๆ หากผ่านการสรรหามาอย่างถูกต้องโปร่งใส ตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรค กล่าวว่า ตนเห็นว่ากระบวนการสรรหา ส.ว. ที่มีคณะกรรมการสรรหาเป็น คสช. เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมายค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ สถานะของ ส.ว. และการกระทำหรือการลงมติใดๆ ของ ส.ว. ดังกล่าวเป็นโมฆะไปด้วย ทั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และหลังจากนี้หากมีการนำประเด็นนี้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องด้วยอาจจะพังกันทั้งองคาพยพ โดยส่วนตัวเชื่อว่า อำนาจเผด็จการไม่สามารถดำรงอยู่ได้นาน ท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วงของมหาชน
นอกจากกระบวนการสรรหา ส.ว. ที่ดำเนินการอย่างปกปิดและผิดทำนองคลองธรรมแล้ว ความเสียหายที่สำคัญอีกอย่าง คือ กระบวนการสรรหา ส.ว. ที่อาจจะเกี่ยวพันคดีทุจริต ซึ่งเรื่องนี้จะได้ถูกตรวจสอบและเปิดเผยให้สังคมได้รับทราบด้วย
ทั้งนี้ ถ้าหากนายชวน ไม่บรรจุญัตติการสรรหา ส.ว. จึงอาจตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการกระทำที่อาจผิด ม.157 หรือไม่ หรือหากทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ก็อาจจะทำให้สูญเสียความเป็นกลาง และเกิดข้อครหาจากคนในสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อเกียรติภูมิของประธานสภาฯเอง