โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์บางรัก ประกาศย้ายที่เรียน ม.3-ม.6 ชั่วคราว เพื่อเรียกขวัญกำลังใจครูนักเรียน หลังเกิดเหตุเครนถล่ม ทำให้นักเรียนบาดเจ็บ 10 คน ขณะตำรวจเร่งติดตามจับกุมคนขับเครนชาวกัมพูชา หลังยังไม่ยอมติดต่อมอบตัว
โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ได้โพสต์ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า หลังเกิดเหตุเครนของโครงการก่อสร้างที่อยู่ติดกันได้หักลง และร่วงลงใส่หลังคาลานอเนกประสงค์ของโรงเรียน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บ
ในเบื้องต้น ได้มีการซ่อมแซมหลังคาของโรงเรียน ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้มั่นใจว่า โครงสร้างเดิมมั่นคงปลอดภัย โดยมีวิศวกรของสภาวิศวกรแห่งประเทศไทยเป็นผู้ตรวจสอบ
ทั้งนี้ ทางโรงเรียนคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียน และเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจของคณะครูและนักเรียนกลับคืนมา คณะกรรมการบริหารโรงเรียน จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็น ที่จะต้องย้ายสถานที่เรียนชั่วคราว เพื่อปรับสภาพจิตใจของนักเรียน และเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
ดังนั้น ทางโรงเรียนจึงจัดให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการย่านสาทรสักระยะหนึ่ง ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 จะเรียนที่อาคาร 1 (อาคาร 100 ปี) ตามเดิม
ด้านพันตำรวจเอก ดวงโชติ สุวรรณจรัส ผู้กำกับการ สน.บางรัก กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามจับกุมคนขับเครนชาวกัมพูชา ผู้ต้องหาตามหมายจับว่า ผู้ต้องหายังไม่ได้ติดต่อมอบตัวแต่อย่างใด และไม่ทราบว่า จะเข้ามอบตัวหรือไม่ โดยตำรวจยังคงพยายามกดดัน และติดตามจับกุม
ส่วนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง 6 แห่ง ที่ได้ออกหมายเรียก ให้มาให้ปากคำภายในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ คาดว่า จะทยอยเข้ามาในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ ก่อนพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหากับวิศวกร รวมถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง
ทั้งนี้ ต้องรอผลการตรวจสอบเครนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ว่า เครนได้มาตรฐานหรือไม่ อะไรเป็นสาเหตุให้หล่นทับ คาดว่า จะต้องใช้เวลาสักระยะ ส่วนเจ้าหน้าที่สำนักโยธาฯ สำนักงานเขตบางรัก ได้ขอเลื่อนเข้าให้ปากคำเป็นวันที่ 25 มิถุนายนนี้
สำหรับเจ้าหน้าที่ กทม.หรือสำนักงานเขตบางรัก จะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือปล่อยปละละเลยให้มีการฝ่าฝืนก่อสร้างหรือไม่นั้น หน่วยงานต้นสังกัดได้ตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมาย
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยว่า กรมฯ เตรียมส่งทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท ลงพื้นที่เข้าไปในโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ เมื่อโรงเรียนพร้อมเปิดการเรียนการสอนอีกครั้ง เพื่อดูแลเยียวยาจิตใจนักเรียน ครู และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
โดยการดำเนินงานของทีมเอ็มแคท จะมีการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น คัดกรองความเครียด มีการให้คำปรึกษาสุขภาพจิต การพูดคุยให้กำลังใจกัน เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ สามารถดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้หลังจากเกิดเหตุการณ์ และส่งต่อการรักษาให้หน่วยที่รับผิดชอบต่อไป
ขณะที่ศาสตราจารย์อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย แนะ 4 แนวทาง มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งกำหนดออกมาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อป้องกันปัญหาเครนถล่มในอนาคต ได้แก่
1.กำหนดให้เครนหรือปั้นจั่นเข้าข่ายเป็นโครงสร้างอาคาร ตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 เพื่อให้ต้องมีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในการติดตั้งและการใช้งานเครน
2.ควรจำกัดการใช้งานทาวเวอร์เครนชนิดแขนราบ เนื่องจากมีพื้นที่ทำการกว้างตามแนวรัศมี ซึ่งอาจยื่นล้ำออกไปนอกขอบเขตไปพื้นที่ข้างเคียง และควรพิจารณาใช้งานทาวเวอร์เครนชนิดแขนกระดก ซึ่งมีพื้นที่ทำการแคบภายในอาคารที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากกว่า
3.ควรมีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการตรวจสภาพเครนตามอายุการใช้งาน เนื่องจากว่า เครนที่ใช้ส่วนใหญ่มักผ่านการใช้งานมาแล้วหลายครั้ง ทำให้สภาพไม่สมบูรณ์ เป็นสนิม น็อตและสลิงยึดไม่ครบถ้วน
4.เจ้าพนักงานท้องถิ่นควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะต้องจัดให้มีนายตรวจ ตรวจตราสถานที่ก่อสร้างเป็นประจำ