พรรคชาติไทยพัฒนา ทีมสัตวแพทย์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้พะยูนมาเรียม-ยามีล และ โฮป วาฬหัวทุยแคระ วอนสังคมอย่ามองเป็นแค่กระแสแต่ต้อง ลด ละเลิก ขยะพลาสติกให้ได้ สั่ง ส.ส.พรรคทำเป็นตัวอย่าง
วันที่ 24 ส.ค. 2562 นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมด้วยนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับมาเรียม พะยูนน้อยเกาะลิบง พะยูนยามีล และ โฮป ลูกวาฬหัวทุยแคระ รวมถึงสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้นเสียชีวิตในปีนี้กว่า 17 ตัว ที่ศาลาพระยานิกรบดินทร วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร โดยได้นิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ ก่อนที่จะร่วมกันถวายผ้าบังสกุล จตุปัจจัยไทยธรรม ให้พระสงฆ์สวดบังสกุล
โดย นางสาวกัญจนา กล่าวว่า มาเรียมและยามีล เป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ทะเลและเป็นเหมือนลูกหลานที่ต้องตายเพราะการกระทำของมนุษย์ โดยยอมรับว่า การลดละเลิกใช้ถุงพลาสติกเป็นเรื่องยาก อย่างพ่อค้าแม่ค้ายังต้องใช้พลาสติกเพราะวัสดุธรรมชาติมีต้นทุนที่สูงกว่า ซึ่งรัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้ามาดูแลในเรื่องนี้และหานวัตกรรมสร้างผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้มาทดแทน แต่สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากพฤติกรรมของตัวเองและครอบครัว ในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา จะให้ ส.ส.สมาชิกพรรคทุกคน ร่วมรณรงค์ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก รวมถึงพฤติกรรมการจัดการขยะ การจากไปของมาเรียมจะไม่สูญเปล่า
ด้านสัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าวถึงแผนการยื้อชีวิตสัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น ว่า ทีมแพทย์ที่ดูแลในด้านนี้ 27 คน จะมีการหารือกับอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจัดทำคู่มือการทำงานเมื่อเกิดเหตุสัตว์ทะเลเกยตื้นให้เร็วที่สุด เบื้องต้นจะจัดทำสถานีย่อยรักษาสัตว์ทะเลเกยตื้นใกล้ชาดฝั่ง โดยจะทำบ่อบริบาลให้มีความเป็นธรรมชาติที่สุด ก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยลงสู่ทะเล เพราะการเคลื่อนย้ายบ่อยจะทำให้สัตว์ทะเลเกิดความเครียด
งบประมาณก็ถือเป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติเพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า พะยูนหรือสัตว์ทะเลจะมาเกยตื้นใน 1 ปีกี่ตัว แต่ก็ยังดีที่มีกองทุนช่วยชีวิตสัตว์น้ำที่ เคยเปิดรับบริจาคเป็นเวลา 2 วัน ก็มีจำนวนเงินประมาณ 1,700,000 บาท ที่สามารถใช้จ่ายได้ รวมถึงหน่วยงานต่างๆก็เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนในอนาคตคงต้องหารือกันว่าจะต้องทำอย่างไร
นอกจากนี้ สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ยังยอมรับว่าสัตว์ที่มาเกยตื้น จะมีอัตราการรอดเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และการรักษาจะต้องดูจากอาการจริงและโรคที่แทรกซ้อนด้วย ส่วนสาเหตุสำคัญก็เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น แม้จะเป็นขยะเพียงชิ้นเดียว แต่ก็เป็นชิ้นเดียวที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลได้