พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ห่วงปัญหาสิ่งแวดล้อม ร่วมพิจารณาการประชุมคณะกรรมการนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
วันที่ 5 ก.ย. 2562 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว
ซึ่งจากการประชุม คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบต่อการเข้าร่วมความร่วมมือ NDC Partnership รวมถึงเห็นชอบต่อ ร่างองค์ประกอบคณะผู้แทนของประเทศไทย ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 การประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโต สมัยที่ 15 การประชุมรัฐภาคีความตกลงปารีส สมัยที่ 2 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงซันติอาโก สาธารณรัฐชิลี ,ร่างกรอบท่าทีเจรจาของไทยในการประชุมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประจำปี พ.ศ. 2562 – 2563, ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25, ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุม Climate Action Summit 2019 และ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านกฎหมาย โดยจะนำเสนอในการประชุมครม. เพื่อให้พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 25 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างเดือนธันวาคม และร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 นี้ ประเทศไทยได้จัดทำขึ้นในโอกาสที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของไทยและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการเพิ่มบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ
ส่วนารดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย มีเป้าหมายการแสดงเจตจำนงค์เพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ภายในปี 2563 ที่ร้อยละ 7-20 ในภาคพลังงานและการขนส่ง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย NAMAs แล้ว โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2559 ได้ 45.68 ล้านตัน คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือร้อยละ 12.45
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ส่งข้อเสนอการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ภายหลังปี 2563 ที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 ในสาขาพลังงานและขนส่ง สาขาอุตสาหกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ และการจัดการของเสีย