การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จัดงานสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้ารายใหญ่ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนพร้อมสื่อสารแนวทางและทิศทางการดำเนินงานของ กฟน. เพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ พร้อมด้วยลูกค้ากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ กฟน. รวมกว่า 200 คน ณ ห้องแมกโนเลียบอลรูม โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพฯ

 

วันนี้ (6 กันยายน 2562) คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟน. คณะผู้บริหาร กฟน. จัดงานสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้ารายใหญ่ประจำปี 2562 ภายใต้แนวคิดพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร “Energy for city life, Energize smart living” เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้ารายใหญ่ในธุรกิจหลักและธุรกิจเกี่ยวเนื่องตลอดจนสื่อสารแนวทางและทิศทางการดำเนินงานของ กฟน. รวมถึงรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้าเพื่อนำมาวางแผนปรับปรุงการดำเนินงาน นำไปสู่การยกระดับความพึงพอใจของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ภายในงาน นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟน. ยังได้ขึ้นเวทีสื่อสารทิศทางการดำเนินงานของ กฟน. ในหัวข้อ “Energy for city life, Energize smart living” เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้ารายใหญ่ให้เชื่อมั่นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการสร้างระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับวิถีชีวิตเมืองมหานครแห่งอนาคต ด้วยการพัฒนาระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid ซึ่งเป็นโครงการนำร่องครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่กลางใจเมือง ได้แก่ ถนนเพชรบุรี ถนนพญาไท ถนนรัชดาภิเษก และถนนพระรามที่ 4 ที่เชื่อมโยงบริการด้านระบบไฟฟ้ากับระบบ ICT Integration ที่ทันสมัย การเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแผนงาน การก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดยักษ์เพิ่มเติมจากถนนชิดลมถึงถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลมถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยเป็นการก่อสร้างในส่วนต่อขยายจากอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินเดิมของ กฟน. ที่ปัจจุบันเชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ขนาดแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV) และก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยใต้ดินคลองเตย ตอบโจทย์พื้นที่เมืองมหานคร ที่มีปริมาณการใช้ไฟจำนวนมาก การปรับปรุงระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน (Renewable Energy) การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้ Electric Vehicle ซึ่งหากมีการชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าในช่วงเวลาเดียวกันจำนวนมาก การพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติด Solar PV ได้แก่ ระบบ HEMS (Home Energy Monitoring and Control System) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำหรับลูกค้าที่ติดตั้ง Solar PV ให้สามารถตรวจสอบสถานะการผลิตไฟฟ้า รวมถึงบริหารจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบ้านได้ด้วยตนเอง แบบ Real Time และ MEA Energy Trading Platform ระบบกลางในการให้บริการการซื้อขายไฟฟ้าสำหรับกลุ่ม Community หรือกลุ่มลูกค้าที่การผลิตไฟฟ้าภายในพื้นที่ ให้สามารถซื้อขายพลังงานไฟฟ้าภายในพื้นที่ใกล้เคียงกันได้ กฟน. จึงมีความมั่นใจในความเพียงพอ มั่นคงเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและในอนาคต ในด้านงานบริการ กฟน. เป็นองค์กรของประเทศไทยที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมรับการประเมิน จัดอันดับจากธนาคารโลก (World Bank) ที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) จากผลการจัดอันดับประจำปี พ.ศ. 2562 พบว่าประเทศไทยพัฒนารวดเร็วเลื่อนเป็นอันดับที่ 6 ของโลก สืบเนื่องจากการยกระดับคุณภาพงานบริการขอใช้ไฟฟ้าใหม่ M easy (เอ็มอีซี่) การปรับปรุงข้อบังคับอัตราค่าบริการขอใช้ไฟฟ้า การพัฒนาระบบรับชำระค่าไฟฟ้าของ กฟน. ผ่านระบบ E-Payment ตอบสนองนโยบายภาครัฐสังคมไร้เงินสด ตลอดจนการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กฟน. ยังได้นำเสาไฟฟ้าจากการนำสายไฟลงใต้ดินไปทำประโยชน์ในรูปแบบ MEA’s Model โดยนำเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้งานและยางรถยนต์เก่านำมาทำเป็นแนวกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน และป้อมพระจุลจอมเกล้า ฐานทัพเรือกรุงเทพ และการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า เพื่อลดการกัดเซาะชายฝั่ง คืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ท้องทะเลไทย ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

//////////

 

▶️ Website : https://www.mea.or.th/content/detail/87/4922

▶️ Facebook : https://www.facebook.com/497340003626475/posts/2948307808529670?sfns=mo

▶️ GNews : https://gnews.apps.go.th/news?news=46598