โครงสร้าง "ศอฉ." สู้วิกฤตโควิด-19 หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบหมาย 8 ศูนย์ประสานการปฏิบัติงาน ให้ปลัดกระทรวงแต่ละด้านเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ
(25 มี.ค. 2563) สำหรับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่จะมีผลบังคับใช้หลังจากการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยบังคับใช้ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 - 30 เม.ย. 2563 นั้น จะใช้โครงสร้างและยึดกรอบการทำงานด้านต่าง ๆ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด CoViD-19 โดยมี 8 ศูนย์ประสานการปฏิบัติงาน ซึ่งจะให้ปลัดกระทรวงแต่ละด้านเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ดังนี้
1.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขดูแล
2.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน กระทรวงมหาดไทย พลเรือน ตำรวจ ทหาร ดูแล
3.ศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสังคมออนไลน์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแล
4.ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อ CoViD -19 มีสำนักนายกรัฐมนตรีดูแล
5.ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดูแล
6.ศูนย์กระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ดูแล
7.ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมสินค้า มีกระทรวงพาณิชย์ดูแล
8. ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนการปฏิบัติของทหาร-ตำรวจ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในนามกองบัญชาการกองทัพไทย (ทบ.-ทร.-ทอ.และ ตำรวจ) รับผิดชอบงาน
โดยทั้ง 8 ศูนย์ประสานการปฏิบัติจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน