นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า "ในขณะที่เราเฝ้าลุ้นโควิด-19 ใจจะขาด บัดนี้ "ไข้เลือดออก" ได้เข้ามากระจายในโคราชเรียบร้อยแล้ว...ช้ำหนักเป็น 2 เท่า โดยเฉพาะงานสอบสวนโรคในพื้นที่ ที่ไม่รู้จะแยกร่างอย่างไร เตียงก็ต้องพร้อม Covid แต่ไข้เลือดออก ก็มาอีกซะงั้น และจากรายงานฉบับที่ 506 วันที่ 31/3/63 ในพื้นที่นครราชสีมา ยอดรวมผู้ป่วยไข้เลือดออกอยู่ที่ 119 คน (DF/DHF/DSS) คาดว่า สรุปยอด 7 วัน ข้างหน้า น่าจะสูงกว่านี้ พาหะนำเชื้อโรคนี้คือยุงลาย ยุงลายเมื่อกัดคนที่มีเชื้อ ก็จะพาเชื้อนั้นไปสู่คนถัดไปที่ยุงไปกัดได้ ในระหว่างที่เรากำลังสู้กับข้าศึกตรงหน้าซึ่งเป็นศัตรูตัวใหม่ แต่บัดนี้ศัตรูตัวเก่าของเรา มันคือไข้เลือดออกได้เจาะเข้าพื้นที่หลายพื้นที่แล้ว..."
จากข้อความดังกล่าว ได้สร้างกระแสทำให้หน่วยงานราชการที่ควบคุมโรค ออกมาทำงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือกออกกันอย่างเต็มที่ควบคู่กันไปโรคโควิด-19 รวมถึงประชาชนก็ตื่นตัวเฝ้าระวังป้องกันตนเองและคนในครอบครัว ด้วยการช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในบ้าน นอนกางมุ้ง ปิดประตูหน้าต่าง ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการกันยุง เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ของกรมควบคุมโรค ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563 ระบุว่า ช่วง 3 เดือนแรก ไข้เลือดออกระบาดทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 7,134 คน และเสียชีวิตแล้ว 4 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยเรียน อายุ 5-14 ปี โดยที่ จ.นครราชสีมา ในปี 2563 พยากรณ์ว่า โรคไข้เลือดออกจะระบาดเกือบทั้งจังหวัด โดยมี 20 อำเภอจาก ทั้งหมด 32 อำเภอ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ได้แก่ อ.เมืองนครราชสีมา ครบุรี โชคชัย โนนไทย โนนสูง ขามสะแกแสง บัวใหญ่ ปักธงชัย พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง สูงเนิน ขามทะเลสอ หนองบุญมาก โนนแดง วังน้ำเขียว เทพารักษ์ ลำทะเมนชัย สีดา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นอกนั้นอีก 12 อำเภอ เป็นพื้นที่เสี่ยงปานกลาง และพื้นที่เสี่ยงต่ำ