ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิด "ทางด่วนแก้หนี้" ช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจ SME กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19
(14 เม.ย. 2563) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ธปท. ได้เน้นย้ำกับสถาบันการเงินให้เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ SME อย่างเร่งด่วน เพื่อเสริมสภาพคล่องจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน หรือจ่ายหนี้ทางการค้า ดังนั้น เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ไม่ควรขอจากลูกหนี้มากเกินควร เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งรู้จักและมีประวัติลูกหนี้ดีอยู่แล้ว
ส่วนกรณี ที่มีข่าวว่ามีการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกิน 2% นั้น ถือเป็นการกระทำผิดอย่างชัดเจน เพราะตามประกาศของ ธปท. ระบุว่า การเบิกซอฟท์โลนต้องไม่มีค่าธรรมเนียม หรือค่าหัวคิวใด ๆ กับลูกหนี้ หากพบการเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มเติม สามารถร้องเรียนมาทางหมายเลข 1213 ธปท. ได้ตลอดเวลา ขณะที่ ธปท. ได้ให้สถาบันการเงินรายงานความคืบหน้าการทำมาตรการต่าง ๆ ของธนาคารให้ ธปท. รับทราบอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ธปท. คาดหวังว่าแต่ละสถาบันการเงินจะมีมาตรการช่วยลูกหนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการขั้นต่ำที่ ธปท. ออกมาก่อนหน้านี้ เช่น ลดดอกเบี้ย หากพบว่าลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีภาระมีสภาพคล่องที่ต้องดูแล จากการนำเงินฝากของประชาชนมาปล่อยกู้ ทำให้มีต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการด้วย
ด้านนางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. เปิดเผยว่า ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางเงิน (ศคง.) ธปท. ได้เปิดช่องทาง "ทางด่วนแก้หนี้" เพื่อเป็นช่องทางเสริมสำหรับประชาชนและธุรกิจ SME ที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการปรึกษาแนะนำฟรี โดยมูลนิธิเพื่อเอสเอ็มอีไทย
โดยข้อมูลที่ได้รับผ่านช่องทางนี้จะถูกส่งต่อไปยังสถาบันการเงิน ส่วนการพิจารณาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง กรณีที่ไม่สามารถรับข้อเสนอของลูกหนี้ได้ ขอให้ระบุเหตุผลเพื่อแบงก์ชาติจะเข้าไปดูว่ามีอะไรที่พอจะทำได้บ้างที่จะไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติร่วมกัน และเดินต่อไปด้วยกันได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ลูกหนี้ติดต่อสถาบันการเงินก่อนเป็นอันดับแรก
>>>ลงทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก สถานการณ์ COVID-19<<<