ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน สนับสนุนข้อเสนอไทยตั้ง "กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19" ด้านนายกรัฐมนตรี เสนอมอบชุดตรวจโควิดให้สมาชิก ประเทศละ 1 หมื่นชุด
(14 เม.ย. 2563) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายเหวียน ชวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน เป็นประธานการประชุม
ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษนี้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาบวกสาม ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ใช้การประชุมหารือผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันในการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที
โดยผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศดำเนินการในการรับมือกับโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหา การส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและการต่อต้านข่าวปลอม การสนับสนุนการจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ระดับภูมิภาค การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกและศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน การรักษาการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ระบบโลจิสติกส์ และห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเฉพาะการไหลเวียนของสินค้าและบริการที่จำเป็น ยา และอุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือต่อพลเมืองของอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศที่สาม
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของการจัดทำแผนฟื้นฟูภายหลังการสิ้นสุดลงของโควิด-19 และการเสริมสร้างขีดความสามารถของอาเซียนในการรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ได้สนับสนุนข้อเสนอของไทยเกี่ยวกับการจัดตั้ง "กองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19" เพื่อจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน เพื่อเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของอาเซียน ในเรื่องนี้
โดยนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะมอบชุดตรวจชนิด RT-PCR ที่ผลิตในประเทศจากความร่วมมือของรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย ให้แก่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวนประเทศละ 10,000 ชุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้สนับสนุนความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ของอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม การส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ MSME รวมทั้งการส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันของอาเซียน
ซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังได้เสนออีกว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการพึ่งพาตนเองของอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจคุกคามอาเซียนในอนาคต รวมทั้งเห็นว่า วิกฤตนี้ไม่ควรนำไปสู่ความถดถอยของโลกาภิวัตน์ แต่ควรเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาระดับโลก
นอกจากนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการรับรองปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ด้วย