นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าได้รับรายงานจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยแจ้งว่าหลังจากมีปริมาณฝนตกในช่วงวันที่ 14-18 เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มรวม 7.12 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC ได้ในระดับหนึ่ง 

โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนอีกหลายจังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอื่นๆด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการประกาศภัยแล้งไป ทุกหน่วยงานต้องให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ 

ในพื้นที่EEC ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา ระยอง และ  ชลบุรี  เกี่ยวกับการใช้น้ำทั้งการอุปโภค-บริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยว ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เข้าไปดูแลเพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้อย่างต่อเนื่อง   

สำหรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นนั้น แบ่งเป็นพื้นที่ จ.ระยอง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวม 4.85 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นอ่างฯ หนองปลาไหลจำนวน 2.40 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯ ดอกราย จำนวน 1.45 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯคลองใหญ่จำนวน  0.85 ล้าน ลบ.ม. อ่างฯประแสร์ จำนวน 0.14 ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯขนาดกลาง จำนวน 0.01 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีน้ำไหลลงอ่างฯ รวม 2.27 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นอ่างฯบางพระจำนวน 0.33 ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯขนาดกลางจำนวน 1.94 ล้าน ลบ.ม.
 
ส่วนปัญหาภัยแล้งที่ จ.ลำปางนั้น ทางจังหวัดได้ร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยใช้น้ำต้นทุนจากอ่างฯกิ่วลม และอ่างฯแม่ฟ้า ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวัง 10 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 17-21 เมษายนนี้  เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 30 ตำบล ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.เกาะคา อ.สบปราบ อ.เถิน และ อ.แม่พริก พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันการสูบน้ำระหว่างทางทำให้มีปริมาณน้ำถึงยังเป้าหมายตามที่ต้องการ
 
นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอื่นๆ โดยกรมชลประทานสนับสนุนน้ำในพื้นที่ อ.เมือง จ.เลย, อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา, อ.หันคา จ.ชัยนาท, อ.ศรีประจันทร์ จ.สุพรรณบุรี และ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

ในส่วนของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และกรมชลประทานยังร่วมกันสนับสนุนน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่หมู่บ้านอพยพจากการสร้างเขื่อนฯ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ให้เพียงพอ