ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเงินหมดคลัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบแล้ว พบเป็นข้อมูลบิดเบือน
จากกรณีที่มีการพูดถึงในสังคมออนไลน์ถึงประเด็น การขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเงินหมดคลัง ประกันสังคมเอาเงินออกมาใช้หมด ตัดงบ 30 บาท เลื่อนออกหวย เพราะไม่มีเงินจ่ายรางวัล ทางกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า มีข้อมูลบิดเบือน ที่อาจสร้างความเข้าใจผิด
เนื่องจากขณะนี้ ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการที่เป็นมติ จาก ครม. เป็นเพียงแนวคิด และเป็นมติในที่ประชุมของ ศบค. เท่านั้น ซึ่งในวันที่ 28 เมษายน 2563 จะมีการนำเรื่องเสนอต่อ ครม. ในลำดับต่อไป
และส่วนประเด็นเรื่องเงินหมดคลัง เงินประกันสังคมใช้หมด ตัดงบ 30 บาท และการเลื่อนออกหวย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่อย่างใด โดยข้อเท็จจริงคือ
1. เงินยังไม่หมดคลัง แต่จากนโยบายจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาท จึงทำให้รัฐบาลต้องปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ จากเดิมรัฐบาลมีแผนกู้เงินในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณ 63 ราว 8.94 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 1.497 ล้านล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมานี้เป็นเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน
2. เงินประกันสังคมมีเพียงพอกับการจ่ายเงินเยียวยากรณีว่างงานของผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ได้เสร็จสิ้นถึงเดือน ส.ค. นี้แน่นอน พร้อมเตือนนายจ้างรีบลงทะเบียนรับรองการว่างงานให้กับลูกจ้างที่ยังคงค้างอยู่ราว 4 แสนคน เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาช่วงว่างงานอย่างทั่วถึง
3. ไม่มีการตัดงบประมาณในส่วนของบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค จำนวนกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แน่นอน แต่งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกตัดนั้น เป็นเพียงในส่วนของการจัดซื้อครุภัณฑ์ และงบก่อสร้างที่ยังไม่เซ็นสัญญา
4. การเลื่อนออกหวยเป็นวันที่ 16 พ.ค.63 นั้นไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายรางวัล แต่เพื่อป้องกัน และลดโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะหากรัฐบาลให้ออกรางวัลตามเดิม อาจเป็นการกระตุ้นให้คนขายลอตเตอรี่ออกมาเดินขายตามสถานที่ต่างๆ จนเกิดการรวมกลุ่ม และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่ม
ดังนั้น ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางภาครัฐที่ถูกต้อง เกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และสถานการณ์ COVID-19 สามารถติดตามได้ที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 หรือโทรสายด่วน 1111