"ศรีสุวรรณ" ถามแรง! ต้องกินยาตายถึงจะได้เงินเยียวยา? พร้อมจี้รัฐบาลปลด รมว.คลัง และ ผอ.โครงการเราไม่ทิ้งกัน
(28 เม.ย. 2563) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีมาตรการแจกเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีบางส่วนไม่ผ่านเกณฑ์ และพลาดการได้รับเงินเยียวยา โดยระบุว่า "ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง มีนโยบายแจกเงินให้กับผู้ที่ตกงานหรือได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท/3 เดือน ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันนั้น แต่ปรากฏว่าระบบการคัดสรรสิทธิ์โดย AI มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น อาชีพแม่ค้า แต่ระบุว่าเป็นเกษตรกร หรือเป็นนักศึกษา เป็นต้น ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ตกไปทั้ง ๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 โดยตรง เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังกำหนดทุกประการ
แต่กลับมีเล่ห์เพทุลายกำหนดเงื่อนไขใหม่ ๆ ขึ้นมาเสมอ ๆ เพื่อคัดคนออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขัดกับวัตถุประสงค์ของการช่วยคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงเป็นเหตุให้มีประชาชนจำนวนมากฆ่าตัวตายเพราะผิดหวัง ถูกเขี่ยทิ้งจากระบบการคัดสรรของกระทรวงการคลัง จนกระทั่งมีหลายคนเดินทางมายื่นหนังสือและประท้วงด้วยการกินยาเบื่อหนูหมายจะฆ่าตัวตายประชดรัฐบาล จนกระทั่งกระทรวงการคลังยอมที่จะจ่ายเงิน 5,000 ให้คนที่ฆ่าตัวตายดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายคนสงสัยว่าถ้าอยากได้เงิน 5,000 ต้องไปแสร้งฆ่าตัวตายหน้า ก.คลังอย่างนั้นหรือ ?
ทั้งนี้ การใช้ระบบ AI มาคัดสิทธิ์ดังกล่าว เชื่อว่าน่าจะมีความผิดพลาดล้มเหลวในจุดใดจุดหนึ่งของระบบ ที่ไม่ยอมเปิดเผยความจริงต่อสาธารณชน และในทางกฎหมายระบบ AI ไม่มีสถานะเป็นบุคคลหรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐนั้นหมายถึง ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง คณะบุคคล หรือผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง หรือคณะกรรมการ หรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล และบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐข้างต้น
ดังนั้น การทำหน้าที่ของ AI จึงไม่มีสถานะทางกฎหมายรองรับ หากมีผู้เดือดร้อน เสียหาย และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบดังกล่าว ไม่สามารถฟ้องร้อง AI ได้โดยตรง หากแต่จะต้องไปฟ้อง ผอ.โครงการฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่และเลือกปฏิบัติ ซึ่งจะมีผลให้การคัดเลือกบุคคลให้ได้รับเงิน 5,000 ทั้งหมดเป็น “โมฆะ” ตามไปด้วย
โครงการ เราไม่ทิ้งกัน เริ่มต้นโครงการได้รับการตอบรับแซ่ซ้องสรรเสริญรัฐบาลกันอย่างมาก แต่เมื่อปฏิบัติการจริงกลับถูกประชาชนตำหนิกันทั้งแผ่นดิน ซึ่งรัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉยกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำต่อไปควรสั่งปลด ผอ.โครงการฯ และ รมว.กระทรวงการคลัง ออกไปเสียเพื่อเซ่นไหว้คนที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้เพราะผิดหวังจากโครงการฯนี้ ซึ่งหากกรณีปัญหาดังกล่าวไม่รีบแก้ไขให้ลุล่วงและเป็นธรรมต่อประชาชนโดยเร็ว ประชาชนผู้เดือดร้อนก็สามารถใช้สิทธิ์ของตนตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐบาลยิ่งนัก"