รมว.คลัง ยังไม่ขอตอบ! หากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะจ่ายเงินเยียวยา "เราไม่ทิ้งกัน" เดือนที่ 4-6 ต่อหรือไม่ ระบุต้องรอดูสถานการณ์เป็นหลัก
(15 พ.ค. 2563) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชน ในมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยได้เข้าไปพูดคุยและสอบถามปัญหาของพี่น้องประชาชนที่เดินทางมารอยื่นเรื่อง พร้อมชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของคนที่ได้เข้าไปพูดคุย เช่น มีบางคนที่ยื่นทบทวนสิทธิ์และระบบตอบกลับว่าเป็นเกษตรกร นายอุตตม ชี้แจงว่าได้ให้กระทรวงการคลัง เข้าไปดำเนินการตรวจสอบช่วยเหลือแล้ว
นายอุตตม ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไปได้ประสานไปยังธนาคารของรัฐ คือ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เพื่อขอให้ช่วยเปิดพื้นที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 พ.ค. เนื่องจากพบว่าประชาชนที่มาร้องทุกข์ส่วนใหญ่มีปัญหา ได้รับสิทธิ์แล้วแต่เงินยังไม่เข้าบัญชี ซึ่งอาจจะเกิดจากการผูกบัญชีพร้อมเพย์ยังไม่เรียบร้อย จึงต้องให้ติดต่อธนาคารโดยตรงเพื่อดำเนินการแก้ไข ส่วนปัญหาอื่น ๆ สามารถยื่นฝากไว้กับธนาคารได้โดยตรงเช่นกัน
สำหรับยอดผู้ที่ได้รับสิทธิ์ ขณะนี้มีแล้วกว่า 14 ล้านคน และทยอยจ่ายเงินไปแล้ว ส่วนคนที่ไม่ได้เข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มอาชีพอิสระ จะต้องตรวจสอบว่าเข้าเกณฑ์ตามมาตรการการช่วยเหลือของรัฐส่วนใด เพราะอีกส่วนหนึ่งไปอยู่ในส่วนของการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มของประกันสังคม ส่วนกลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ 1.7 ล้านคน จะต้องเข้าไปดูแลเป็นรายกรณีว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จเพราะเหตุผลใด ซึ่งมีทั้งเลขบัตรประชาชนไม่ตรง ก็จะนำมาทบทวนเพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป หากตรวจสอบพบว่าเข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ก็จะจ่ายเงินทันที
อย่างไรก็ตาม นายอุตตม ยังขอไม่ตอบว่าจะมีการจ่ายเงินเยียวยาเดือนที่ 4, 5 และ 6 ในกรณีที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลายหรือไม่ เนื่องจากต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงยังตอบไม่ได้ว่าจะมีเงินเพียงพอในการเยียวยาพี่น้องประชาชนต่อไปหรือไม่ เนื่องจากทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิด
โดยนายอุตตม กล่าวว่า ตอนนี้นายกรัฐมนตรี สั่งให้ติดตามการเยียวยาอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งคณะทำงานด้วยการให้ปลัดจาก 10 กระทรวงมาดูแล ซึ่งต้องดูเรื่องงบประมาณประกอบด้วย วันนี้มีการใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ แจกเกษตรกร จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ส่วนโครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาไปประมาณ 15 ล้านคน ก็ใช้เงินไป 2.4 แสนล้าน โดยในจำนวนนี้เป็นงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.7 แสนล้านบาท และยังมีอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงงานประมาณ 10 ล้านคนซึ่งประกันสังคมดูแล จะมีคนได้รับความช่วยเหลือ 36 ล้านคนที่รัฐบาลได้ดูแลแล้ว แต่ก็ยังไม่หมด ยังมีบางคนที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ของ 3 กลุ่ม