ฝ่ายค้านซักถามเดือด! ปม "วันเฉลิม" ถูกอุ้ม รมว.ต่างประเทศ ลุกขึ้นแจง "วันเฉลิม" ไม่ใช่ภัยคุกคาม และไม่ใช่ผู้อยู่ในระบบลี้ภัยทางการเมืองของ UNHCR
(10 มิ.ย. 2563) การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล พร้อมด้วยนายสมคิด เชื้อคง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลถึงกรณีการหายตัวไปของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มในประเทศกัมพูชา ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด
โดยนายรังสิมันต์ กล่าวว่า สังคมเคลือบแคลงสงสัยเพราะนายวันเฉลิม เป็นผู้ลี้ภัยจากกรณีการถูกออกหมายจับในคดีไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เมื่อปี 2557 และยังถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และแม้นายวันเฉลิม จะลี้ภัยไปแต่ก็ถือเป็นคนไทยที่รัฐบาลต้องมีหน้าที่ปกป้องชีวิต แต่กลับพบว่ารัฐบาลนิ่งเฉยกับกรณีนี้ช และตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เกิดกรณีอุ้มหายมาแล้วเกือบ 9 คน, ไม่ทราบชะตากรรม 7 คน อีก 2 คนชัดเจนแล้วว่าเสียชีวิต
นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังตั้งคำถามถึงกรณีถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แม้กองทัพบกจะยืนยันว่า ไม่มีการดำเนินคดีนี้กับนายวันเฉลิม แต่ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้เป็นเหตุจูงใจของการอุ้มหาย นายวันเฉลิม หรือไม่
ต่อมา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ โดยยืนยันว่า นายวันเฉลิม ไม่เคยมีการร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม ทำให้การดำเนินการเรื่องนี้จะต้องเป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันร่างกฎหมายอุ้มหาย แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นต่าง ทำให้มีความล่าช้า ขณะเดียวกันรัฐบาลมีความพยายามที่จะเร่งผลักดันการออกกฎหมายดังกล่าวเข้ามาป้องกันการก่ออาชญากรรมอุ้มหาย
ส่วนความคืบหน้าคดีอุ้มหายต่าง ๆ นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งพิเศษในการตั้งคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและทำให้สูญหายแล้ว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการเพื่อติดตามคดีบุคคลสูญหาย อย่างกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย พร้อมยอมรับว่า ประเทศไทยมีคดีบุคคลสูญหายมากถึง 87 คน ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้วเหลือ 75 คน
ขณะที่ นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามในลักษณะเดียวกันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างประเทศ จึงขอถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า จะให้ความมั่นใจในการดูแลคนไทยในต่างประเทศได้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยในต่างประเทศมีการประสาน UNHCR ช่วยดำเนินการหรือไม่
ต่อมา นายดอน ปรมัติถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลุกขึ้นชี้แจง ว่า ส่วนตัวเชื่อว่า นายวันเฉลิม ไม่ได้มีความสำคัญมากนักในทางด้านความมั่นคงและด้านการต่างประเทศ จึงไม่ได้มีรายชื่อเป็นผู้ถูกจับตาพิเศษหรือเป็นภัยคุกความต่อความมั่นคง แต่เรื่องที่เกิดขึ้นจะมาจากเหตุผลอะไรนั้นเป็นเรื่องที่กำลังรอคำตอบจากทางการกัมพูชา ขณะนี้ทางการกัมพูชากำลังดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องให้เวลากัมพูชาด้วย เพราะเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้ตอนนี้คือการประสานกับทางรัฐบาลกัมพูชา และไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะมีผลการดำเนินการอย่างไรจนกว่าจะได้รับคำตอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำอีกว่า เหตุผลที่กล่าวว่า นายวันเฉลิม ไม่มีความสำคัญ หมายถึง ชไม่ได้มีความสำคัญในลักษณะของการเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ แต่ในฐานะความเป็นคนไทยกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับคนไทยในต่างประเทศทุกคน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ดูแลคนไทยในต่างประเทศทุกด้าน แต่กรณีของนายวันเฉลิม มีความแตกต่างจากบุคคลอื่น เพราะไม่มีการแสดงตัวว่าเป็นผู้พำนักอยู่ในต่างประเทศ ทำให้เมื่อมีปัญหาหรือความเดือดร้อนถึงจะได้ทราบว่าอาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา
ย้ำว่าในรายชื่อของผู้ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง ก็ไม่เคยมีชื่อของนายวันเฉลิม ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น ย้ำว่ายังต้องรอการตรวจสอบจากเจ้าของประเทศ และตามบันทึกของ UNHCR ก็ยืนยันว่า นายวันเฉลิม ไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือแสดงความต้องการขอได้รับการดูแลปกป้องจากองค์กรใด ๆ แต่ขณะนี้องค์กรต่าง ๆ รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังรอคำตอบจากกัมพูชาเช่นกัน
ส่วนที่มีการเชื่อมโยง นายวันเฉลิม กับคดีมาตรา 112 นายดอน ยืนยันว่า กฎหมายตามมาตรา 112 ได้เคยมีการพูดคุยในทางการทูตกับ 28 ประเทศทั่วโลกมาแล้ว ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่ากฎหมายตามมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่มีอยู่เหมือนกับทุกประเทศตามความจำเป็นของแต่ละประเทศ และทุกประเทศก็ยอมรับว่ามีกฎหมายอาญาในลักษณะนี้ ซึ่งบริบทอาจจะแตกต่างกันบ้างแต่ก็มีความพิเศษในลักษณะเดียวกัน ซึ่งแต่ละประเทศก็ไม่เห็นปัญหาว่าการบังคับใช้มาตรา 112 จะสร้างความเดือนร้อนให้กับคนไทย เช่นเดียวกับประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ที่เห็นตรงกันกับเรื่องนี้ แต่ที่มีการนำปัญหานี้มาพูดคุยกันในสังคมออนไลน์หลายเรื่องเกิดจากบางบุคคลที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะสร้างข่าวปลอมให้ประชาชนเข้าใจผิด