โชว์ความโปร่งใส! ครม. ดึงภาคประชาสังคมร่วมเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ชี้ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบแจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง
(16 มิ.ย. 2563) นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส, การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต, การตรวจสอบ และการดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา หวังดึงภาคประชาชน เอกชน เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสการทุจริต ผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอให้ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง ภาครัฐ สังคม เอกชนและประชาชน เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
โดยรัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวดและจริงจัง สอดคล้องกับแถลงการณ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ที่ให้ประเทศสมาชิกระมัดระวังการจ่ายงบประมาณ มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย
สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 มูลค่ารวมไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้
1) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 45,000 ล้านบาท
2) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 555,000 ล้านบาท
และ 3) แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000 ล้านบาท