ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี 8 เดือนไม่รออาญา แกนนำ นปช. คดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ปี 2550
(26 มิ.ย. 2563) ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3531/52 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว และแกนนำกลุ่ม นปช. รวม 7 คน ร่วมกันเป็นจำเลย กรณีกลุ่ม นปช. บุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อปี 2550
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยท้องสนามหลวง เคลื่อนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ
โดยคดีนี้ศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ศาลสั่งจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ซึ่งในวันนี้ นายนพรุจ จำเลยที่ 1, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. จำเลยที่ 4-7 ทั้งหมดเป็นจำเลยที่ต้องสู้คดีถึงชั้นฎีกา เดินทางมาถึงศาลครบทุกคนในเวลาประมาณ 09.30 น.
ล่าสุด มีรายงานว่าศาลฎีกาพิเคราะห์จากพฤติกรรมและพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ จำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรง มีการเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้าในการนำกำลังมวลชนไปใช้กำลังประทุษร้าย และต่อสู้ขัดขวาง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะกันและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง แม้ว่าตำรวจจะสั่งให้ยุติการชุมนุมถึง 3 ครั้ง แต่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้ก้อนหินขว้างปาตำรวจ และการที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย ในการควบคุมสถานการณ์ถือว่าเป็นไปด้วยชอบแล้ว
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ หนึ่งในแกนนำกลุ่ม นปช. ที่เดินทางมาให้กำลังใจนั้น กล่าวภายหลังฟังคำตัดสินว่า ตนเองและคณะได้พูดมาตลอดว่า การต่อสู้ไม่ตายก็ติดคุก และวันนี้หลังศาลมีคำพิพากษาจำคุก ทุกคนก็น้อมรับคำตัดสิน ตนเองและคนที่เหลืออยู่ในสำนวนที่ 2 แตกต่างกันในเรื่องวันเวลาเท่านั้น และตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เข้าออกคุกสลับกันเสมอ วันนี้ตนเองยังมีเวลาเหลืออยู่ ที่จะต้องกลับไปจัดการกับชีวิตทั้งเรื่องส่วนตัว ส่วนรวม และสุขภาพ เพราะยังไงก็หนีไม่พ้น และไม่มีทิศทางเป็นอย่างอื่น ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และน้อมรับคำตัดของศาลโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ