อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ติดตามแผนบริหารจัดการรับน้ำหลากฤดูฝน'63 ด้านสำนักชลประทาน 3 เตรียม 7 มาตรการรองรับ โดยเฉพาะการตรวจสอบเขื่อนทุกแห่งให้แข็งแรงมั่นคง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ก.ค.63 ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน จังหวัดพิษณุโลก ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางมาติดตามแผนบริหารจัดการรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ในเขตภาคเหนือ โดยเฉพาะใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.อุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก และ นครสวรรค์ พร้อมทั้งประชุมร่วมคอนเฟอเรนต์กับผู้อำนวยการ 4 สำนักชลประทาน เพื่อทราบถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน
ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า จากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่าฝนจะเริ่มตกหนักทางภาคเหนือในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปหลังจากทิ้งช่วงมาระยะหนึ่ง กรมชลประทานจึงเร่งจัดเตรียมแผนเพื่อรับมือน้ำหลากในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ของสำนักชลประทานที่ 3 ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ต้องรับน้ำเหนือโดยตรง ทั้งนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนระยะน้ำมาแล้วที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ทั่วประเทศ มีการติดตามสถานการณ์น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูล แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในบริเวณที่คาดว่าจะเป็นจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ซ่อมแซมอาคารป้องกันน้ำท่วมให้พร้อมใช้งานและซักซ้อมแผนปฏิบัติการ โดยกิจกรรมทั้งหมดได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และส่วนที่เป็นงานซ่อมแซมได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้น
สำหรับแผนเมื่อถึงเวลาน้ำมา มาตรการที่ 1. ได้มีการเตรียมพร้อมสร้างทำนบกระสอบทราย สร้างคันดินป้องกันน้ำท่วม ขุดลอกทางน้ำเร่งการระบายน้ำ ขุดลอกทางผันน้ำ ดำเนินการควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำตามแผนหากเกิดฝนตกหนักในเขต สชป.3 ที่จะส่งผลให้ระดับน้ำ-ปริมาณน้ำท่าของแม่น้ำน่านเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำเจ้าพระยา อาจเกิดน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและชุมชนได้ เช่นการลดระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา ที่ จ.ชัยนาท ให้ต่ำลง พร้อมประสานงานกับเชื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ให้ลดการระบายน้ำลงอีกเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ในลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่อาจจะเกิดขึ้น เป็นต้น
มาตรการที่ 2 การคาดการณ์และการติดตามสภาวะอุตุ-อุทกวิทยา การติดตามสถานการณ์น้ำจากระบบโทรมาตรที่มีอยู่ตลอดลำน้ำปิง ยม น่าน และเจ้าพระยา พร้อมระบบเฝ้าระวังระดับน้ำในจุดเสี่ยงด้วยกล้องวงจรปิดผ่าน ระบบอินเตอร์เน็ตของกรมชลประทาน
มาตรการที่ 3.การตรวจสอบสภาพอาคารชลประทาน และตัวเขื่อนทุกแห่ง ให้อยู่ในสภาพพร้อมแข็งแรง
มาตรการที่ 4.การขุดลอกคลองและกำจัดวัชพืช
มาตรการที่ 5.การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมตาม Rule Curve ที่สำนักงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำหนด
มาตรการที่ 6.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัย กำหนดแผนรับมือที่เหมาะสมกับระดับน้ำ และกำหนดจุดเสี่ยง เพื่อเตรียมการเข้าช่วยเหลือ
และมาตรการที่ 7 คือเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือเผชิญเหตุ รองรับน้ำหลาก แต่ละจุดเสี่ยงในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 3 เช่นที่ ต.เขาดิน จ.นครสวรรค์ ต.ท่าช้าง, วังวน, หนองแขม, มะต้อง จ.พิษณุโลก เป็นต้น รวมกว่า 83 หน่วย ที่ ได้เตรียมการไว้พร้อมใช้งานอย่างทันท่วงทีแล้ว
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเหนือที่สำคัญ กรมชลประทานได้บริหารจัดการดังนี้ มีการเริ่มส่งน้ำเข้าสู่ระบบคลองทุ่งบางระกำเพื่อให้เกษตรกรใช้เตรียมแปลงและเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปีจำนวน 265,000 ไร่ จำนวน 65 ล้านลูกบาศก็เมตร (ลบ.ม)
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าทุ่งบางระกำตลอดฤดูกาลเพาะปลูก (15 มี.ค. - 18 มิ.ย.) ทั้งสิ้น 109.9 ล้านลบ.ม.จากแผนที่วางไว้ 310 ล้านลบ.ม. สรุปใช้น้ำต่ำกว่าแผน 200 ล้าน ลบ.ม.และในเดือนกรกฎาคมนี้จะเป็นช่วงเวลาที่จะรับน้ำเข้าทุ่ง โดยใช้พื้นที่ทั้ง 265,000 ไร่ ทำการหน่วงน้ำเหนือได้ราว 400 ล้าน ลบ.ม และจะทยอยระบายน้ำปริมาณนี้ลงสู่ด้านล่างในเดือนพฤศจิกายน หรือเมื่อเริ่มต้นฤดูแล้งนั้นเอง
นอกจากนี้กรมชลประทานจะได้นำนวัตกรรมสำหรับการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Graphic Information System : GIS) ร่วมกับการประมวลผลภาพ (Image Processing) ด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ในทุ่งบางระกำด้วย เพื่อให้ทราบปริมาณน้ำค้างทุ่ง ช่วงเวลาการนำน้ำเข้า-ออก ระยะเวลาในการระบายน้ำ การคาดการณ์สถานการณ์น้ำล่วงหน้าได้แม่นยำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในทุ่ง ซึ่ง
ขณะนี้ได้ ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น คาดว่าจะช่วยให้การบริหารจัดการมวลน้ำก้อนนี้ทั้งการหน่วงน้ำและระบายน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด