กมธ.กฎหมาย เรียกสื่อ 2 ช่อง ชี้แจงกรณีนำเสนอข่าวคดีน้องชมพู่ ละเมิดสิทธิ-ผิดจรรยาบรรณ

(22 ก.ค. 2563) กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่มีนายสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน ได้เรียกสื่อมวลชน 2 ช่อง คือ ไทยรัฐ ทีวี และอมรินทร์ ทีวี เข้าชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ "น้องชมพู่" หลังชาวบ้านร้องเรียนว่าเป็นการรายงานข่าวเกินบทบาทและหน้าที่ของสื่อ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการทำงานของตำรวจ สร้างความขัดแย้งให้คนในชุมชน โดยการเข้าพบ กมธ.กฎหมายฯ ในครั้งนี้ มีเพียงผู้บริหารจากอมรินทร์ ทีวี เข้าชี้แจงเท่านั้น ส่วนไทยรัฐ ทีวี ได้ทำหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงไปก่อน

โดยนายสิระ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่บ้านกกกอก จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่าการนำเสนอข่าวทำให้ชาวบ้านใช้ชีวิตกันอย่างไม่ปกติ และมีการละเมิดสิทธิเด็กในการนำเสนอข่าว พร้อมตั้งคำถามไปยัง กสทช. ว่าได้ตรวจสอบเนื้อหาที่สื่อมวลชนนำเสนอหรือไม่ ว่าเป็นการหาหาผลประโยชน์และซ้ำเติมผู้สูญเสียหรือไม่

นอกจากนี้ การเสนอข่าวโดยเฉพาะการสัมภาษณ์ที่กระทบต่อบุคคลอื่น และการตั้งคำถามของสื่อมวลชนที่มีลักษณะคล้ายการชี้นำ รวมทั้งการสันนิษฐาน สัมภาษณ์เด็กและร่างทรงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเหมือนสื่อมวลชนเป็นพนักงานสอบสวนเอง ยังทำให้ประชาชนเกิดความข้องใจและรู้สึกเหมือนเป็นสินค้าให้สื่อมวลชนนำไปขาย ซึ่งจากการตรวจสอบอำนาจกรรมาธิการ พบว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้านตัวแทนจาก กสทช. ชี้แจงว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่ดูแลในส่วนของเนื้อหาว่าขัดต่อกฎหมายหรือไม่ สำหรับกรณีน้องชมพู่ กสทช. ไม่ได้นิ่งเฉยโดยมีการตั้งอนุกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาดูเนื้อหารายการ และจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อตรวจสอบว่าการออกอากาศ, การสัมภาษณ์เด็ก, สัมภาษณ์พี่สาว และคนในชุมชน เป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่

ด้านนายนภจรส ใจเกษม จากอมรินทร์ ทีวี ยืนยันว่า การนำเสนอข่าวน้องชมพู่เป็นการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่นำเสนอข้อเท็จจริงรอบด้าน ทั้งครอบครัวผู้สูญเสีย ผู้ถูกสงสัย เพื่อสะท้อนถึงเป้าหมายว่าเป็นการนำเสนอข่าวเพื่อคืนความเป็นธรรมให้ครอบครัวผู้สูญเสียและคนที่ถูกสงสัยว่าอาจเป็นผู้กระทำ

ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสร้างความแตกแยกให้คนในชุมชน นายนภจรส อธิบายว่า มีหลายประะเด็นที่ชาวบ้านเป็นฝ่ายนำข้อมูลมา บอกทีมข่าว สะท้อนว่าชาวบ้านมีความไว้ใจต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้อมรินทร์ ทีวี เป็นสื่อช่องแรก ๆ ที่เข้าพื้นที่ และเห็นความไม่ชอบมาพากล จนทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยค้นหา การเปิดพื้นที่ให้ทุกคนอธิบายจึงถือเป็นแนวทางที่ดีที่สื่อมวลชนควรจะทำ

ส่วนประเด็นการทำหน้าที่เกินอำนาจของสื่อ นายนภจรส อธิบายว่า หากคดีนี้สื่อไม่ลงไปทำข่าวอย่างรอบด้าน จะจบอย่างไร แล้วครอบครัวผู้สูญเสียจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้ก้าวล่วงการทำงานของตำรวจ และมีการประสานงานกับตำรวจตลอด ต่างคนต่างทำหน้าที่แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือทำข้อเท็จจริงให้ปรากฎ ทั้งนี้ นายนภจรส กล่าวย้ำว่า ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาทีมข่าวทำงานภายใต้จริยธรรมมาตลอด