ประธาน กมธ.ตำรวจ ขอโทษ ทำให้เกิดความสับสน ปมโฆษกแถลงชื่อสารที่พบในเลือด "บอส อยู่วิทยา" พร้อมเผย กมธ. พยายามหาวิธีรื้อคดี เชื่อว่ามีช่องทางให้ทำได้
(1 ส.ค. 2563) นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส. นครสวรรค์ เขต 6 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 8 ถึงการเชิญพนักงานสอบสวนมาให้ข้อมูลคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ว่า วันที่มีการเชิญตำรวจมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการนั้น ได้มีการตั้งข้อซักถามไปยังพนักงานสอบสวนว่ามีการตั้งข้อหาใดบ้างต่อนายวรยุทธ ซึ่งพบว่ามี 5 ข้อกล่าวหา โดย 1 ในนั้น เป็นข้อหาเมาแล้วขับ แต่พนักงานสอบสวนไม่สั่งฟ้อง
กรรมาธิการจึงตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงไม่มีการสั่งฟ้อง ซึ่งพนักงานสอบสวนชี้แจงว่า ในวันเกิดเหตุเป็นเวลาเช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไปไม่ถึงที่เกิดเหตุ แต่นายวรยุทธ ได้ขับรถหนีเข้าไปบ้านไปทันที เจ้าหน้าตำรวจจึงนำกำลังไปที่บ้านและรอให้นายวรยุทธ ออกมาพูดคุย แต่เจ้าตัวไม่ออกมา จนตำรวจต้องไปขอหมายศาลเข้าตรวจค้นบ้านในเวลาประมาณ 16.00 น. และนำเลือดไปตรวจ ซึ่งพบสารเสพติดอยู่ 3-4 ตัว เช่น สารที่ก่อให้เกิดการนอนหลับ คาเฟอีน แอลกอฮอล์ และตัวยาอีก 1 ตัว ที่เป็นศัพท์ทางการแพทย์
โดยยอมรับว่า สารตัวนี้กรรมาธิการ รวมถึงโฆษกกรรมาธิการเอง เรียกชื่อไม่ถูกเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ทางพนักงานสอบสวนอธิบายว่า สารตัวนี้เกิดจากการเสพโคเคนร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้เกิดสารตัวนี้ขึ้น ซึ่งเป็นสารที่มีปฏิกิริยาทำให้ผู้เสพอาจจะตื่นตัว กรรมาธิการจึงถามว่า ทำไมไม่สั่งฟ้อง แต่พนักงานสอบสวนชี้แจงว่า พ.ร.บ.จราจร ถ้าจะสั่งฟ้องความผิดทางอาญาจะต้องจับกุมในขณะเกิดเหตุ และตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดประเภท 1 ในขณะจับกุม ซึ่งหลังจากได้ตัวนายวรยุทธ ล่าช้าไปกว่า 10 ชั่วโมง จึงไปตรวจพบแอลกอฮอล์ แต่นายวรยุทธ ได้นำพยานมาหักล้างว่า มีการดื่มแอลกอฮอล์หลังจากเกิดเหตุ
ส่วนสารที่มาจากปฏิกิริยาโคเคนกับแอลกอฮอล์นั้น กรรมาธิการก็ได้ตั้งคำถามไปเช่นกัน โดยพนักงานสอบสวนระบุว่า ก็มีการนำทันตแพทย์มาเป็นพยานว่า สารดังกล่าวเกิดขึ้นจากรับประทานยาที่อาจมีสารที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา และไม่ได้เกี่ยวข้องกับโคเคนโดยตรง อีกทั้งยังไม่จัดเป็นสารเสพติดประเภท 1 ดังนั้น จึงไม่สามารถสั่งฟ้องได้ และไปสั่งฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทฯ ซึ่งเป็นข้อหาที่หนักที่สุด
อย่างไรก็ตาม ตนเองในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า บทบาทของกรรมาธิการคือการสืบสวน สอบสวนหาข้อเท็จจริง และตั้งข้อสังเกต เพื่อนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ไม่สามารถตัดสินว่าใครผิดใคร เนื่องจากเป็นผู้รับฟัง พร้อมยืนยันว่า ได้พยายามตั้งข้อสังเกต และตั้งคำถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในประเด็นที่มีข้อสงสัย
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังข้อมูลแล้ว นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) จึงได้มีการแถลงข่าว โดยระบุว่า มีสารดังกล่าวที่ทันตแพทย์ใช้ แต่ด้วยความไม่ชำนาญคำศัพท์ทางการแพทย์จึงมีการเรียกชื่อสั้น ๆ ไป ซึ่งเป็นการโยนคำถามย้ำไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ พร้อมย้ำว่า การพูดชื่อสารดังกล่าวออกไป ไม่ใช่ว่ากรรมาธิการไม่ทำการบ้าน แต่ด้วยคดีนี้นานกว่า 8 ปี แต่ใช้เวลาซักถาม เพียง 6 ชั่วโมง ซี่งได้รายละเอียดมามากพอสมควร และกล่าวขอภัย ในประเด็นที่โฆษกกรรมาธิการ ได้แถลงและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด แต่ยืนยันว่า ได้ตั้งคำถามในประเด็นที่แคลงใจ ในทุกประเด็น เพื่อให้ส่วนที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจง
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า กรรมาธิการได้พยายามหาวิธีการที่จะทำให้มีการรื้อคดี และเชื่อว่าน่าจะมีช่องทางที่สามารถทำได้ แม้ว่าทายาทโดยธรรมจะหมดช่องทางในการฟ้องร้อง และอัยการไม่สามารถกลับคำให้การได้ ส่วนตำรวจก็ต้องสอบสวนไปตามพยานหลักฐาน ดังนั้น อาจต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้กระบวนการเข้าสู่ศาล ให้ศาลใช้ดุลยพินิจพิพากษามีคำสั่งถึงที่สุดว่าชอบหรือไม่ เพราะหากพบว่าไม่ชอบ ก็จะสามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ได้