กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย. ปักหลักนอนในธรรมศาสตร์ เตรียมขยายพื้นที่ยึดสนามหลวง-ราชดำเนินกลาง ก่อนเดินขบวนใหญ่ไปทำเนียบในวันรุ่งขึ้น
(9 ก.ย. 2563) ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์, นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภานุพงศ์ จาดนอก และสมาชิกร่วมกันจัดแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดการจัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจะใช้ชื่อว่า "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" โดยจะนัดรวมพลตั้งแต่เวลา 14.00 น. ก่อนทำกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงรุ่งเช้า จากนั้นมีการเดินขบวนต่อต้านผด็จการไปยังทำเนียบรัฐในวันรุ่งขึ้น (20 ก.ย.) โดยจะเริ่มคลื่อนขบวนตั้งแต่ 8.00 น. เป็นต้นไป
พร้อมเปิดเผยด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้มีหลายเครือข่ายแจ้งความประสงค์เข้าร่วมด้วย รวมถึงกลุ่มประชาชนปลดแอก คาดจะมีคนมาร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 50,000 คน
นอกจากนี้ตัวแทนแกนนำ ยังระบุว่า สาเหตุที่เลือกใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นสถานที่สัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานจนถือว่าเป็นป้อมปราการของประชาธิปไตย และหากมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมมากจนพื้นที่มหาวิทยาลัยแออัด จะมีการเคลื่อนขบวนเข้าไปใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นการถัดไป เนื่องจากในอดีตสนามหลวงถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้ในการจัดการชุมนุมหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มาโดยตลอด จึงถือเป็นการยึดสนามหลวงคืนประชาชนไปในตัว
ทั้งนี้อาจจะมีการปิดถนนราชดำเนินกลาง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ศิลปะและทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนถนนให้ราษฎรดำเนิน พร้อมเชิญชวนศิลปินนักกิจกรรมศิลปะเข้าร่วมกิจกรรม และการชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่การต่อยอดจากการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม แต่เป็นการชุมนุมแบบทะลุเพดาน อย่างไรก็ตาม ประเด็นข้อเรียกร้องของการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายนนี้ แกนนำระบุว่ายังไม่สามารถเปิดเผยได้
สำหรับการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดการชุมนุม ซึ่งก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยออกประกาศว่าต้องมีการขออนุญาตและมีอาจารย์ที่ปรึกษา แกนนำระบุว่า อยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาต มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่จัดการชุมนุมได้ เพราะหากไม่ได้กลุ่มแนวร่วมจะขอทวงคืนธรรมศาสตร์ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาชน ส่วนสนามหลวงที่มีกฎหมายห้ามเพราะเป็นเขตพระราชฐาน แกนนำมั่นใจว่าสามารถใช้พื้นที่ได้
ส่วนการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำรัฐประหารหรือไม่ นายพริษฐ์ ระบุว่า เหตุผลใดก็สามารถทำให้เกิดรัฐประหารได้หากต้องการให้เกิดขึ้น ส่วนการใช้ความรุนแรงต่อการชุมนุมครั้งนี้นั้น เชื่อว่าเป็นเพียงกระแสข่าว พร้อมยืนยันว่ามีการตรวจสอบผู้ร่วมชุมนุมอย่างเข้มงวด หากเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้นเชื่อว่าไม่ได้มาจากฝ่ายผู้ชุมนุมแน่นอน