โครงการ "คนละครึ่ง" สุดฮ็อต แห่ลงทะเบียนแล้วกว่า 2 แสนร้านค้า ส่วนประชาชนต้องรอวันที่ 16 ต.ค.
(8 ต.ค. 2563) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) กระทรวงการคลัง ได้รายงานความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งว่า ตั้งแต่ที่ได้เริ่มให้ร้านค้าเริ่มลงทะเบียนได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นมานั้น ล่าสุด ณ วันที่ 6 ต.ค. 2563 มีร้านค้าลงทะเบียนทั้งหมดแล้ว 210,010 ร้าน แบ่งเป็นร้านค้าที่ลงทะเบียนที่สำเร็จแล้ว 152,795 ร้าน โดยส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการตรวจสอบ กิจการที่ลงทะเบียนสำเร็จแบ่งออกเป็นกิจการที่มีหน้าร้านจำนวน 127,852 ร้าน และหาบเร่ แผงลอย จำนวน 24,943 ร้าน ประเภทของร้านค้าที่ลงทะเบียนสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 90,052 ร้าน ส่วนร้านธงฟ้ามีจำนวน 41,331 ร้าน ร้าน OTOP มีจำนวน 4,991 ร้าน และเป็นร้านค้าทั่วไปจำนวน 16,421 ร้าน
หากดูตามภูมิภาค ร้านค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางจำนวน 73,092 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 34.8 รองลงมาอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 73,092 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 25.0 และภาคใต้จำนวน 37,229 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 17.7 โดยในรายจังหวัดนั้นพบว่า ร้านค้าที่ลงทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครจำนวน 25,526 ร้านคิดเป็นร้อยละ 12.2 รองลงมาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 7,105 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.4 และจังหวัดสงขลาจำนวน 6,516 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 3.1
ทั้งนี้นายอนุชา กล่าวว่า ร้านค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอย สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ www.คนละครึ่ง.com หรือติดต่อที่ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขา ส่วนประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ที่ www.คนละครึ่ง.com เช่นกัน ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป และรอรับ SMS ยืนยัน โดยจะเริ่มใช้สิทธิใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป จนถึง 31 ธ.ค. 63 และหากไม่ใช้สิทธิ์ภายใน 14 วัน จะถูกตัดสิทธิ์ทันที
โดยโครงการคนละครึ่งนี้ รัฐบาลจะช่วยจ่าย 50% แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวันต่อคน รวมไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน ตลอดโครงการ สำหรับประชาชนคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้สามารถนำไปใช้จ่ายซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าทั่วไป โดยไม่รวมถึงสลากกินแบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และบริการต่าง ๆ