"วิษณุ" ขอม็อบอย่าอ้างเสรีภาพ ชี้ รธน. มีข้อจำกัดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใครร่วมชุมนุมผิดกฎหมายหมด
(16 ต.ค. 2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบังคับใข้กฎหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า มีอยู่ 2 กรณี คือ 1.ตามมาตรา 5 ซึ่งวันนี้ยังใช้อยู่ทั่วราชอาณาจักรในสถานการณ์โควิด-19 และ 22.การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง บัดนี้ประกาศใช้เฉพาะกรุงเทพมหานครที่เบื้องต้นมีกรอบเวลา 30 วัน จนถึงวันศุกร์ที่ 13 พ.ย. 2563 และนายกรัฐมนตรี สามารถยกเลิกได้ทันทีเมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง โดยไม่ต้องเรียกประชุม ครม. ส่วนเคอร์ฟิวจะประกาศเมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งนี้เงื่อนไขที่จะประกาศวันนี้ยังไม่มีใครคิดและพูดถึงเรื่องนี้ แต่มีการประชุมและประเมินสถานการณ์การชุมนุมเป็นรายวัน ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องประเมินอยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่พรรครวมฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาวิสามัญหาทางออกการชุมนุมนั้น นายวิษณุ กล่าวว่าเหลือเวลาอีกสองสัปดาห์จะเปิดสมัยประชุมสามัญ กว่าจะออกพระราชกฤษฎีกาเสนอขึ้นไปก็เปิดสภาพอดี ทั้งนี้ 1 พ.ย. ก็เปิดแล้วไม่มีใครไปทัดทานได้ และเปิดไปอีก 120 วัน
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อหาต่อผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างร้ายแรงนั้น นานวิษณุ ระบุว่า ไม่ขอตอบเพราะตนไม่รู้เรื่อง ว่าเขาตั้งข้อกล่าวหาอะไร ส่วนที่เย็นนี้กลุ่มคณะราษฎรจะยังคงนัดชุมนุมที่ราชประสงค์นั้นก็เป็นสิ่งที่เขานัด พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ตำรวจประกาศว่าผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมวานนี้ผิดกฎหมายทั้งหมด เป็นเรื่องที่ "ถูกต้อง"
โดยเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯไม่ว่าจะที่มีความร้ายแรงหรือไม่นั้นจะไม่ใช้กฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยตามรัฐธรรมนูญแม้บุคคลจะมีเสรีภาพชุมนุมโดยสงบตามมาตรา 44 แต่มีวรรคสอง ที่ระบุว่า "อาจจะจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ" ซึ่งวันนี้มีการประกาศแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดของเสรีภาพนั้น มาอ้างเสรีภาพเต็ม 100% คงไม่ได้ ดังนั้นเงื่อนไขก็จะไปอยู่ในพระราชกำหนดนั้น ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะอำนวยความสะดวกโดยการออกคำชี้แจงว่า การชุมนุมหากไปทำกิจกรรมทางสังคม ทางธุรกิจ หรือวัฒนธรรม เช่น งานศพ สังสรรค์ รื่นเริง แม้จะเกิน 5 คน เป็น 100 เป็น 1,000 ก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จะผิดก็เฉพาะกรณีออกข้อกำหนดนั้น ๆ มา
ส่วนที่กลุ่ม ผู้ชุมนุมมีเป็น 10,000 เป็น 100,000 คน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร นายวิษณุ บอกว่า ก็แล้วแต่ทางตำรวจ ตนไม่ได้ให้แนวทางกับทางเจ้าหน้าที่เพราะเขาชำนาญอยู่แล้ว โดย พ.ร.ก.นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยกระดับตามมาตรา 11 คือสามารถเข้าไปจับกุม ยึด ทำลาย รื้อเวที สั่งห้ามเข้าสถานที่ ไปไกลจนไปถึงสั่งเนรเทศออกนอกประเทศได้ แต่วันนี้ยังไม่ได้ใช้ เพราะไม่สามารถใช้กับคนไทยได้ บางกรณีใช้กับชาวต่างชาติ ส่วนเจ้าพนักงานสามารถตัดสินใจได้เลยหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาของผู้อำนวยการสถานการณ์ ก็คือ ผบ.ตร.