แล้งนี้น้ำต้นทุนลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์น้อย วอนทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดน้ำ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
(5 พ.ย. 2563) สถานการณ์น้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังสิ้นสุดฤดูฝนปริมาณน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย แต่น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีเพียงพอ วอนทุกฝ่ายต้องช่วยกันประหยัดน้ำให้ถึงที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด นั้น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง ปัจจุบัน (5 พ.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 47,907 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 23,977 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯรวมกัน ซึ่งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำในแต่ละพื้นที่ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่
ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,525 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 5,829 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใด ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา