กรมอนามัย แนะศูนย์เด็กเล็ก-โรงเรียนอนุบาล คุมเข้ม "RSV" พบสงสัยป่วยให้หยุดเรียนทันที
(7 พ.ย. 2563) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน นับเป็นจุดเสี่ยงของการเกิดโรคไวรัส RSV เนื่องจากมีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยเชื้อไวรัส RSV สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปาก หรือผ่านทางการสัมผัสมือ จึงควรมีการตรวจคัดกรองเด็กทุกวัน หากพบเด็กมีน้ำมูก ไอ จาม หรือมีอาการสงสัยเป็นโรคไวรัส RSV ให้หยุดเรียน หากไม่มีการเฝ้าระวังอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่งการดูแลเด็กพร้อมเฝ้าระวังโรคไวรัส RSV นั้น พ่อแม่ ครู สามารถทำได้ ด้วยหลัก 3 ร. คือ
1) ร.รักษาความสะอาดสถานที่ บ้าน โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เน้นล้างทำความสะอาดสถานที่ ห้องน้ำ ห้องส้วม ของใช้ ของเล่น ภาชนะที่เด็กใช้ร่วมกัน โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีนหรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือนและหากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ของเด็กที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ ล้างออกด้วยน้ำสะอาดและนำไปตากแดดหรือเช็ดให้แห้ง
2.) ร.รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือก่อนและหลังกินอาหารและหลังขับถ่าย ด้วยสบู่และน้ำ รวมทั้งควรจัดเตรียมเครื่องใช้ของเด็กแยกเป็นรายบุคคลไม่ให้ใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ผู้ดูแลเด็กต้องทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กกิน และอาหารต้องไม่มีแมลงวันตอม น้ำดื่มต้องสะอาด ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ
3) ร.ระวัง ไข้สูง ไอ มีเสมหะจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หรือรุนแรงถึงขั้นตัวเขียว หากพบเด็กมีอาการดังกล่าวให้รีบพาพบแพทย์ทันที
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV การรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิดด้วย พร้อมทั้งปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดทั้งการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงไปในที่แออัด และหมั่นล้างมือเป็นประจำ ดังนั้น มาตรการสำคัญภายในศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลที่ต้องดำเนินการคือ
1. กำหนดจุดรับส่งเพื่อการคัดกรองเด็กที่ป่วย และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาพื้นที่ภายในของศูนย์ เนื่องจากจะให้เป็นพื้นที่สะอาด
2. ที่จุดคัดกรองต้องมีวัดไข้ สอบถามอาการป่วย ไอ น้ำมูก และล้างมือ เมื่อเข้ามาครูจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเด็ก ใส่หน้ากากผ้าให้เด็กทันที
3. เน้นการทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ของเล่น และยานพาหนะทุกวัน
4. การเว้นระยะห่างระหว่างกลุ่มเด็ก
5. ครูและผู้ดูแลเด็ก หากครูมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดงานและไปพบแพทย์