นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กลับบ้านพักที่ จ.ตรัง ในวันหยุดยาว 4 วัน และร่วมงานวันคล้ายวันเกิดของพี่ชาย นายกิจ หลีกภัย อดีตนายก อบจ.ตรัง ในวันนี้ พร้อมเผยเรื่องคณะกรรมการปรองดอง 7 ฝ่าย จะสามารถเสนอชื่อได้ในสัปดาห์หน้า
วันนี้ (21 พ.ย) ที่บ้านพักถนนวิเศษกุล ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของนายกิจ หลีกภัย อดีตนายก อบจ.ตรัง อายุครบ 86 ปี และเป็นพี่ชายของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา บรรยากาศจึงเป็นไปอย่างคึกคัก เมื่อมีบรรดานักการเมืองทั้งระดับ ส.ส. ผู้สมัครนายก อบจ. ส.จ ข้าราชการ และประชาชน เดินทางไปร่วมอวยพรวันเกิดกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเจ้าภาพได้เปิดบ้านจัดเลี้ยงอาหารเช้าแบบเป็นกันเอง ขณะที่นายชวน หลีกภัย ซึ่งเดินทางกลับบ้านพักที่ จ.ตรัง ในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน ได้ร่วมอวยพรวันเกิดพี่ชายด้วย
นายชวน กล่าวถึงการปรองดองที่สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอ 2 แนวทางคือ 1.เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองให้มีคณะกรรมการ 7 ฝ่ายนั้น ขณะนี้รูปแบบที่ทำมาก็กำลังเสนอรายชื่อบุคคล สัปดาห์หน้าจะหารือว่าจะมีพรรคการเมืองหรือ 7 ฝ่ายใดบ้างเข้าร่วม ส่วนแนวทางที่ 2. อาจจะไม่จำเป็นต้องเอานักการเมืองเสมอไป แต่อาจจะคิดถึงอนาคตว่าวิธีป้องกันปัญหาที่เกิดแล้วในอดีตเราสามารถวางปัญหาได้ บางปัญหาไม่สามารถคาดหมายในอนาคตได้ แต่บางอย่างมีประสบการณ์มาแล้วว่าเกิดเพราะอะไร กรณีนี้ผู้ที่เคยทำโครงการนี้มาก่อนเขามีประสบการณ์ เราก็จะเชิญคนเหล่านี้มาคุยมาหารือว่าจะหาแนวทางให้เรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกได้อย่างไร ซึ่งมีหลายเรื่องและกำลังศึกษากันอยู่ กรณีของผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตนได้มีโอกาสไปหารือด้วย ท่านเช่นอดีตนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายก็มีข้อคิดที่เป็นประโยชน์ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข มีความสมานสามัคคี ความขัดแย้งไม่ถึงขนาดไม่มี เพราะความขัดแย้งย่อมมีเป็นธรรมดาในทุกสังคม แต่ความขัดแย้งอย่างไรก็เรื่องการเมือง ไม่ใช่ประชาชนขัดแย้งกันเอง กรณีเช่นนี้ควรจะได้ร่วมกันหาทางป้องกันไว้ก่อน
ส่วนในอนาคตเช่นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความรู้ในเรื่องการสื่อสารชนิดใหม่เรียกว่าเป็นประโยชน์เป็นคุณอนันต์ แต่เป็นโทษมหันต์สำหรับกรณีที่ใช้ไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่สร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างที่เราได้เห็นอยู่ในสื่อปัจจุบันบางประเภท ที่ใช้เรื่องนี้เป็นความขัดแย้งทำให้คนแบ่งกลุ่ม อย่างนี้ตนคิดว่าเป็นความก้าวหน้าที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้ถ้าเราใช้มาตรการของผู้รู้ จึงจำเป็นต้องใช้ผู้รู้เหล่านี้มามีส่วนร่วมในการหารือว่าเราจะใช้เทคโนโลยีใหม่ให้เป็นประโยชน์โดยไม่มีโทษได้อย่างไร แต่ปัดไม่ตอบข้อถามที่ว่าสัปดาห์หน้าการหารือเรื่องคณะกรรมการปรองดองจะลงตัวหรือไม่